Eye Tracking เทคโนโลยีสู่การออกแบบ "เมืองน่าอยู่" และ "เมืองปลอดภัย"
เขียนบทความโดย RISC | 4 ชั่วโมงที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 4 ชั่วโมงที่แล้ว
Eye Tracking System หรือเทคโนโลยีระบบการติดตามสายตา ที่เราได้พูดถึงไปแล้วในเรื่องของ Neuromarketing (อ่านเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/40LGLjL) ซึ่งเราทราบกันดีว่าเทคโนโลยีนี้ เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน วงการโฆษณาและสื่อดิจิตัล เพื่อหาจุดที่สนใจเป็นพิเศษ หรือจุดที่ผู้คนมักมองเป็นส่วนใหญ่ ช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่าการทำแบบสอบถามทั่วไป เข้าใจพฤติกรรมการรับรู้แบบอัตโนมัติของคนเรา แม่นยำ และง่ายต่อการนำมาพัฒนาต่อยอดในผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เริ่มมีการนำมาใช้ในหลากหลายวงการมากขึ้น รวมถึงการออกแบบเมือง (City Design)
การออกแบบเมือง (City Design) ก็คือการวางแผน และออกแบบพื้นที่ของเมืองเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้งานพื้นที่, โครงสร้างพื้นฐาน, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างเมืองที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คน มีความน่าอยู่ มีประสิทธิภาพที่ดี และมีความยั่งยืน โดยการออกแบบเมืองมักใช้ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาสถาปัตยกรรมในการออกแบบเมือง ทำงานร่วมกับวิศวกร และรัฐบาล
เมื่อการออกแบบเมืองแบบเดิม ที่เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมถูกนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยียุคใหม่ที่ไม่คาดคิดว่าจะสามารถใช้งานร่วมกันได้มาก่อนอย่าง Eye Tracking System เรามาลองดูกันว่าจะเป็นอย่างไร?
การออกแบบเมือง ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการออกแบบป้ายบอกทาง ผ่านการมอง เพื่อปรับปรุงการออกแบบ ให้มีสีสัน ตัวอักษร รวมไปถึงการสร้างจุดสนใจให้กับสถานที่นั้นๆ
ตัวอย่างที่น่าสนใจเป็นความร่วมมือจาก Institute for Transportation Development Policy (ITDP) ร่วมกับเมือง Chelsea ใน Suffolk City, Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจคนในเมืองให้สังเกตเห็นป้ายรถเมล์บริเวณนี้มากขึ้น โดยทางเมืองได้เพิ่มลวดลายดอกไม้สีสันสดใสในบริเวณหน้าป้ายรถเมล์และที่นั่ง หลังจากนั้นจึงใช้เทคโนโลยี Eye Tracking ติดตามสายตา เพื่อดูพฤติกรรมการมอง พบว่า ในภาพด้านล่างที่มีสี Highlight เขียว-เหลือง-แดง บ่งบอกว่าบริเวณนั้นของภาพมีคนมองจากน้อยไปจนถึงมาก
เราจะเห็นเลยว่า เมื่อเพิ่มจุดเด่นด้วยสีสันและลายดอกไม้ขึ้นมาให้กับบริเวณป้ายรถเมล์ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนให้รับรู้ถึงป้ายรถเมล์ และไปบริเวณนั้นได้มากขึ้น
นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีจากศาสตร์ด้านพฤติกรรมมาประยุกต์ใช้ร่วมกับอีกศาสตร์ด้านการออกแบบเมือง นับเป็นการสร้างจุดแข็งของเทคโนโลยีสู่การนำมาใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับบทความถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร? ฝากติดตามได้ที่เพจนี้
เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Biometrics + Bus Stops: What Eye Tracking + Facial Expression Analysis Reveal | The Genetics of Design