สีสันของดอกไม้ มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมากกว่าที่เราคิด
เขียนบทความโดย RISC | 1 วันที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 วันที่แล้ว
“ดอกไม้” ในสายตาของใครหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ในธรรมชาติ พอบานแล้วก็ร่วงหล่น แต่จริงๆ แล้ว ดอกไม้กลับส่งผลต่อมนุษย์มากกว่านั้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “จิตใจ”
สีสันของดอกไม้ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามน่าดึงดูดใจต่อมนุษย์และเหล่าสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อจิตใจของเราได้อีกด้วย นั่นก็เพราะ สีแต่ละสีสามารถกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของเราได้ โดยผ่านกลไกการรับรู้ของสมองและระบบประสาท
จากงานวิจัยด้านจิตวิทยาสี (Color Psychology) ชี้ให้เห็นว่า สีส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ของเราอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลจากกลไกการประมวลผลของสมองที่ตอบสนองต่อสีโดยอัตโนมัติ จากงานวิจัยพบว่า "สีโทนร้อน" อย่างสีแดง สีส้ม และสีเหลือง มักกระตุ้นความรู้สึกกระตือรือร้น ความสดใส และพลัง สีเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดึงดูดสายตา และกระตุ้นอารมณ์ เช่น ความหลงใหล ความมั่นใจ และความสุข นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม "ดอกกุหลาบสีแดง" จึงถูกใช้เป็น "สัญลักษณ์ของความรัก" มาอย่างยาวนาน
ในทางตรงกันข้าม "สีโทนเย็น" อย่างสีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง รวมถึงสีขาว มักเชื่อมโยงกับความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และเยียวยา สีเหล่านี้จึงมักถูกนำมาใช้ในสภาพแวดล้อมที่ต้องการลดความตึงเครียด หรือส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัย และเป็นมิตรนั่นเอง
การออกแบบพื้นที่สีเขียวอย่างใส่ใจ โดยการเลือกใช้พรรณไม้ และดอกไม้หลากสีสัน สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญใน "การฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตใจและร่างกาย" ผ่านการออกแบบสวนภายในบ้าน สนามเด็กเล่น หรือพื้นที่สาธารณะ การออกแบบบรรยากาศด้วยสีของดอกไม้ สามารถกระตุ้นพฤติกรรมเชิงบวก สร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจ และเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันได้ ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศของสถานที่ และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสังคมเมืองในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และแรงกดดัน การมีพื้นที่ธรรมชาติเล็กๆ ที่ประกอบด้วยพืชพรรณหลากสี จึงช่วยเปลี่ยนอารมณ์ของผู้คนที่ได้ผ่านไปผ่านมาในวันนั้นให้ดีขึ้นได้
เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Li, H., Zhang, X., Zhao, M., & Guo, S. (2023). Psychological and physiological responses to flower colors: Evidence from human experiments. Urban Forestry & Urban Greening, 80, 127871.