Negative Pressure ER 100% Fresh Air
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
อีกหนึ่งในความตั้งใจและภูมิใจของ RISC ที่ได้สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีให้กับสังคม ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
“ห้องฉุกเฉินความดันลบ (Negative Pressure ER) 100% Fresh Air พัฒนาโดย RISC และ EEC นำร่องติดตั้งที่โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้
ทุกขั้นตอนของการออกแบบยึดตามหลักสุขภาวะที่ดี (Health and Well-being) ปลอดภัยด้วยระบบปรับการไหลของอากาศภายในห้อง ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบนพื้นผิวของห้อง ประหยัดพลังงาน ยืดหยุ่นต่อการใช้งาน เคลื่อนย้ายได้สะดวก และยังมีการใช้หลักการออกแบบเพื่อสุขภาพจิตเข้าไปอีกด้วย ซึ่งรายละเอียดของห้องมีดังนี้
- ขนาดตัวห้องกว้าง 2.50 เมตร ยาว 6.00 เมตร สูง 2.75 เมตร หรือคิดเป็น 15 ตารางเมตร สามารถวางเตียงผู้ป่วยได้ 1 เตียง และรองรับทำหัตถการฉุกเฉิน ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ผู้ป่วยสีแดง)
- ออกแบบห้องให้มีความดันลบ 12 Pa จากข้อกำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 7.5 Pa โดยทางเข้าของแพทย์จะเตรียมความดันลบ 5 Pa เพื่อไม่ให้อากาศในห้องผู้ป่วยออกมาสู่ภายนอก ส่วนภายในห้องผู้ป่วย ออกแบบแยกพื้นที่ให้มีความดับลบต่างกัน รวมทั้งแยกทางเข้า-ออกเป็นทางเดียว (one-way route) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ส่วนต่างๆ ของห้อง
- ออกแบบงานระบบให้ดูดอากาศออกไปโดยตรงจากห้องผู้ป่วย มี HEPA Filter ช่วยกรองอากาศและกักเชื้อ ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก ทำให้ปลอดภัยทั้งภายในและบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีการเติมอากาศบริสุทธิ์ (100% Fresh air) เข้าสู่ห้อง เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนอากาศใหม่ตลอดเวลา ไม่ใช้อากาศเดิมหมุนเวียน และใช้ระบบปรับอากาศที่มีการควบคุมทิศทางการไหลของอากาศ โดยพื้นที่ทางเข้าของแพทย์เพื่อเตรียมเข้าห้อง (Anteroom) ออกแบบระบบอัตราการถ่ายเทเปลี่ยนอากาศ 10 รอบต่อชั่วโมง ส่วนหัตถการ ออกแบบระบบอัตราการถ่ายเทเปลี่ยนอากาศ 13 รอบต่อชั่วโมง ซึ่งมาตรฐานด้านการแพทย์กำหนดขั้นต่ำของห้อง ER ระบบอัตราการถ่ายเทเปลี่ยนอากาศจะอยู่ที่ 12 รอบต่อชั่วโมง
- ภายในห้องติดตั้งผนัง ISO WALL มีพื้นผิวผนังไม่เอื้อต่อการเกิดเชื้อราและทำความสะอาดง่าย และปูกระเบื้องยาง ตามมาตรฐานห้อง Clean room
- ติดตั้ง Seal door ป้องกันการรั่วไหลของอากาศ เพื่อความปลอดภัยบริเวณโดยรอบ โดยขนาดประตูหลักกว้างเหมาะสม สำหรับรถเข็นและการขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ
- ไฟแสงสว่างภายในห้อง ใช้อุณหภูมิสีของแสง 4000K และติดตั้งไฟในตำแหน่งทำหัตถการ นอกจากนี้พื้นผิวภายในห้องเน้นสีขาว เพื่อสร้างการสะท้อนเพิ่มความสว่างภายในห้อง ช่วยให้แพทย์ทำการรักษาและทำหัตถการได้อย่างชัดเจน ดูสะอาดและมองเห็นสิ่งผิดปกติในห้องได้ง่าย
- ผนังด้านนอกติดตั้ง ISO WALL เช่นกัน โดยมีการเพิ่มฉนวนโพลิยูริเธนชนิดกันไฟลาม ความหนา 2 นิ้ว เพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอก ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในห้อง และยังป้องกันการรั่วซึมของอากาศ (Air leakage protection) อีกด้วย
- ผนังห้องภายนอกถูกออกแบบให้สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตใจได้ โดยให้มีการเปลี่ยนสีของแสงได้ตามช่วงเวลา ช่วงกลางคืนจะเปิดไฟโทนสีอุ่น (Warm white) และช่วงกลางวันจะเปิดไฟสีโทนฟ้า (Blue Light) ในช่วงความยาวคลื่น 470-480 นาโนเมตร ซึ่งจากผลงานวิจัย พบว่า แสงสีฟ้าช่วยลดความเครียดได้เร็วกว่าแสงสีขาวถึง 3 เท่า และยังกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex: PFC) ที่ช่วยในการบริหารจัดการ กำกับความคิด อารมณ์ และสร้างความผ่อนคลายโดยตรง
“ห้องฉุกเฉินความดันลบ (Negative Pressure ER) 100% Fresh Air” นับเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมของ RISC ที่ตอกย้ำกลยุทธ์ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกชีวิต หรือ “For All Well-Being” และยังเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้นักวิจัยของ RISC เดินหน้าคิดค้นและทำงานวิจัยเพื่อสิ่งดีๆ ต่อไป