RISC

ต้นไม้ดูดซับคาร์บอนแล้วไปเก็บที่ไหน?

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

9041 viewer

หลายคนทราบกันอยู่แล้ว ว่า “ต้นไม้” เป็นสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้มาโดยตลอด แต่...มีใครรู้บ้าง ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับนั้นไปอยู่ที่ไหน?​

ต้นไม้จะทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง และนำคาร์บอนไปเก็บตามส่วนต่างๆ ของต้น ทั้งส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน ได้แก่ ลำต้น 62%, กิ่ง 11% และ ใบ 1% และส่วนที่อยู่ใต้ดิน ได้แก่ ราก 26% ซึ่งเราสามารถใช้สมการแอลโลเมตรี มาคำนวณค่ามวลชีวภาพ แล้วนำค่าที่ได้ไปคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับได้อีกด้วย​

คำถามที่ตามมา...ถ้าเราอยากจะช่วยลดโลกร้อน แล้วต้นไม้ชนิดไหนล่ะ? ที่กักเก็บคาร์บอนได้ดี​

ต้นไม้แต่ละชนิดนั้นมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น​

- กระถินณรงค์ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 3.48 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี​
- สัก สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 1.72 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี​
- พะยูง สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 1.36 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี​

นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้โตเร็ว ที่แนะนำให้ปลูกเพื่อลดโลกร้อน อย่างเช่น กระถินเทพา ยูคาลิปตัส มะฮอกกานี และสะเดา แต่การคัดเลือกพันธุ์ไม้เพื่อปลูก ก็ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไม้ท้องถิ่น ระบบนิเวศป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพเนื้อไม้ รวมไปถึงความสวยงาม​

ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ในภาคป่าไม้ ภายใต้การกำกับขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ไปชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปลดปล่อยในองค์กรต่างๆ หรือขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้อีกด้วย​

เราจะเห็นได้ว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนที่มีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ เราอาจไม่จำเป็นต้องพยายามค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยับยั้งปริมาณก๊าซเรือนกระจก แต่จริงๆ แล้ววิธีที่ง่ายและทุกคนสามารถทำร่วมกันได้นั่นก็คือ “การปลูกต้นไม้” นั่นเอง​

เนื้อหาโดย คุณ สุธินี อ่อนอ่วม นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
กลไกลดก๊าซเรือนกระจก. 2559. T-VER คืออะไร [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/t-ver.html  [24 กุมภาพันธ์ 2566]​
ชิงชัย วิริยะบัญชา. 2546. คู่มือการประมวลชีวภาพของหมู่ไม้. กรุงเทพมหานคร: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.​
ศศิธร พ่วงปาน. 2555. พัฒนาการของวิธีแอลโลเมตรีเพื่อการประมาณมวลชีวภาพของป่าไม้. วารสารการจัดการป่าไม้. 6(12): 64–72.​
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องคก์ารมหาชน). 2559. ปลูกต้นไม้...ช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงนะ?. กรุงเทพมหานคร: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน).​
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องคก์ารมหาชน). 2564. ปลูกต้นไม้ ลดโลกร้อน. กรุงเทพมหานคร: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน).​
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องคก์ารมหาชน). 2565. คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ มุ่งเป้าหมาย Net Zero. กรุงเทพมหานคร: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน).​