สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน สำคัญต่อพื้นที่โครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างไร?
โดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
RISC 5 Research Hubs: Plants & Biodiversity Hub เมื่อพูดถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือสัตว์เลื้อยคลาน น่าจะมีใครหลายคนที่ไม่ชอบหรือกลัวอย่างแน่นอน ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของสัตว์เหล่านี้บางชนิดอาจจะไม่ได้สวยงาม น่ากลัว แต่ภายใต้ความไม่สวยงามนั้น ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญอย่างมากต่อการมีชีวิตอยู่ของเรา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อย่างพวกกบ อึ่งอ่าง คางคก และสัตว์เลื้อยคลาน อย่างพวกจิ้งจก เต่า งู ต่างก็เป็นสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในเขตเมือง รับบทบาททั้งเป็นผู้ล่าและเหยื่อ และมีความสำคัญที่ทำให้สายใยอาหาร (Food web) ในระบบนิเวศสมดุล ซึ่งสัตว์ทั้งสองกลุ่มนี้ถือเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Bioindicator) ที่สามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศภายในเมืองได้เป็นอย่างดี โดยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ เพราะการดำรงชีวิตของสัตว์กลุ่มนี้ต้องอาศัยอยู่ทั้งในน้ำและบนบก ในขณะที่สัตว์เลื้อยคลานนั้นก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความจำเพาะต่อถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจึงควรมีแหล่งน้ำ เพื่อส่งเสริมถิ่นที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทั้ง 2 กลุ่ม ตลอดเวลาที่ผ่านมา RISC ได้ร่วมมือกับ ทางภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.พงษ์ชัย ดำรงโรจวัฒนา และ น.ส.ปิยฉัตร ยอดเงิน นิสิตฝึกงาน ได้เริ่มศึกษาความหลากชนิดของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลานในพื้นที่สีเขียวของโครงการ The Forestias ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพิเศษ เพราะมีการแบ่งพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ สำหรับสร้างป่านิเวศ และมีแหล่งน้ำรอบๆ พื้นที่ การศึกษาได้เริ่มในช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการ ตั้งแต่ตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565 และมีการพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำถึง 9 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นคางคกบ้าน กบหนอง เขียดน้ำนอง กบนา กบบัว อึ่งอ่างบ้าน อึ่งข้างดำ อึ่งน้ำเต้า และปาดบ้าน ส่วนสัตว์เลื้อยคลานพบถึง 7 ชนิด ทั้งกิ้งก่าหัวสีฟ้า กิ้งกาหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน จิ้งจกบ้านหางหนาม จิ้งจกบ้านศรีลังกา จิ้งจกบ้านหางแบน และเต่านา รวมทั้งยังมีปัจจัยที่บ่งบอกอีกว่าพื้นที่โครงการมีระบบนิเวศที่เอื้อประโยชน์ให้กับสัตว์ทั้งสองกลุ่ม ทั้งในด้านการอยู่อาศัยและดำรงชีวิต แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้เป็นแนวทางจัดการพื้นที่ให้ส่งเสริมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์กลุ่มนี้ต่อไป ซึ่ง RISC หวังว่างานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ส่งเสริมต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้ในอนาคต เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC และ น.ส.ปิยฉัตร ยอดเงิน นิสิตฝึกงาน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอ้างอิงข้อมูลจาก Carey, C. and Alexander, M.A. 2003. Climate change and amphibian declines: Is there a link?. Diversity and Distribution. 9: 111–112. Kumar, D.T., Kumar, S.S. and Prasad, M.R. 2014. Current status and possible cases of reptile’s decline. International Research Journal of Environment Sciences. 3: 75–79.