Knowledge - RISC

“กลิ่นหอม” ดีต่อใจ ดีต่อสมอง

เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว

2248 viewer

เชื่อว่าใครหลายคนคงมีกลิ่นหอมที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ที่ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามที่ได้กลิ่น ก็จะรู้สึกอารมณ์ดีและมีความสุข แต่...รู้หรือไม่ว่า ความลับของกลิ่นหอมไม่ได้มีดีแค่นั้น เพราะยังช่วยในเรื่องของการทำงานของสมองอีกด้วย​

มีงานวิจัยปี 2008 หัวข้อ Olfactory Influences on Mood and Autonomic, Endocrine, and Immune Function โดยใช้อาสาสมัครวิจัย 56 คน ทดลองดมกลิ่น 3 ประเภท ได้แก่ กลิ่นน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ (Lavandula Angustifolia) กลิ่นน้ำมันหอมระเหยเลมอน (Citrus Limonum) และกลิ่นน้ำกลั่น (Distilled Water) แทนสภาวะไร้กลิ่น แล้วแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลของกลิ่นก่อนการทดลอง (Primed Group) และกลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูล (Blind Group)​

ผลจากการวิจัยนี้พบว่า กลิ่นเลมอนส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกมากที่สุด จากผลการทำแบบทดสอบประเมินอารมณ์ความรู้สึก (Positive And Negative Affect Schedule: PANAS) ผลจากแบบทดสอบอ่านออกเสียงสีของตัวอักษรที่เห็นในภาพ (Stroop) จำนวนคำบรรยายที่มีความหมายเชิงบวกจากผู้ทดลองหลังจากการดมกลิ่น (Thought-Listing) และผลจากแบบทดสอบภาพวัดอารมณ์ความรู้สึกและความสนใจ (International Affective Picture System: IAPS) โดยกลิ่นเลมอนส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกและการตื่นตัว จากการวัดระดับสารเคมีในสมองที่ชื่อ “นอร์อิพิเนฟริน” (Norepinephrine) ซึ่งสารนี้ส่งผลให้สมองมีการตื่นตัว ถูกกระตุ้น และเพิ่มความเร็วในการตอบสนอง และผลของอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) ที่เพิ่มขึ้นจากการสูดดม ในขณะที่กลิ่นลาเวนเดอร์ จะส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกและการผ่อนคลาย จากระดับนอร์อิพิเนฟรินและผลของอัตราการเต้นของหัวใจที่ลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับข้อมูลของกลิ่นก่อนการทดลองจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูล​

จากงานวิจัยนี้จะเห็นได้ว่า กลิ่นหอมส่งผลต่ออารมณ์และการตอบสนองของเราแตกต่างกัน โดยสามารถช่วยให้รู้สึกตื่นตัวหรือผ่อนคลายได้ทั้งนั้น และสำหรับในช่วงปีใหม่นี้ ถ้าใครกำลังหาของขวัญให้คนพิเศษ ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมก็นับเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน แต่ก็อย่าลืมเช็กก่อน ว่าคนที่ได้รับแพ้น้ำหอมด้วยหรือเปล่า?​

เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC​

ที่มา: Kiecolt-Glaser JK, Graham JE, Malarkey WB, Porter K, Lemeshow S, Glaser R. Olfactory influences on mood and autonomic, endocrine, and immune function. Psychoneuroendocrinology. 2008 Apr;33(3):328-39. doi: 10.1016/j.psyneuen.2007.11.015. PMID: 18178322; PMCID: PMC2278291.​

แนะนำสำหรับคุณ

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน