Knowledge - RISC

"คลื่นความร้อน" ภัยที่เข้าใกล้ตัวมากขึ้น

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

12520 viewer

ตั้งแต่ต้นปี 2565 เราคงจะได้เห็นข่าวกันมาบ้างว่า หลายๆ ประเทศทั่วโลกได้เผชิญสถานการณ์คลื่นความร้อน (Heat Wave) อย่างหนัก จนเกิดภัยพิบัติตามมาในหลายพื้นที่...ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า คลื่นความร้อนที่ว่า นั้นคืออะไร?​


คลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟ (Heat wave) ก็คือ ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวัน เกินค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของภูมิภาคนั้นในช่วงเวลาเดียวกันของปีประมาณ 5 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 วัน ซึ่งอันตรายของคลื่นความร้อนนี้ อาจทำให้ผู้คนเป็นโรคเพลียแดดและโรคลมแดด โดยจะมีอันตรายมากกับกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุและเด็ก​

แล้วประเทศที่ได้รับผลกระทบนั้น มีที่ไหนบ้าง?​

เริ่มตั้งแต่ในทวีปเอเชีย ที่ประเทศอินเดียอุณหภูมิเดือนมีนาคมพุ่งสูง ทำสถิติร้อนที่สุดในรอบ 122 ปี ในขณะที่เมือง Nawabshah ประเทศปากีสถาน ก็เผชิญอุณหภูมิสูงถึง 49.5 องศาเซลเซียส ถัดมาเป็นประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่งเผชิญคลื่นความร้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน โดยที่เมืองอิเซะซากิทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียวมีอุณหภูมิสูงถึง 40.2 องศาเซลเซียส นับเป็นอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดสำหรับเดือนมิถุนายนนับตั้งแต่มีการจดบันทึกอุณหภูมิเมื่อปี พ.ศ. 2418 และทางการได้ประกาศให้ประชาชนในโตเกียวช่วยกันประหยัดไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าอาจไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศที่พุ่งสูงขึ้น​

ในทวีปยุโรป หลายประเทศก็เผชิญคลื่นความร้อนตั้งแต่เดือนมิถุนายนมาจนถึงปัจจุบัน อย่างในฝรั่งเศสเผชิญคลื่นความร้อนจัด จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าในภูมิภาค Gironde ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้คนกว่า 24,000 คนต้องอพยพ โดยไฟได้ทำลายพื้นที่ไปกว่า 42,000 เฮกตาร์ ในขณะที่โปรตุเกสก็เผชิญกับไฟไหม้ป่าในเมือง Leiria เผาไหม้พื้นที่ไปกว่า 3,000 เฮกตาร์ ส่วนที่เยอรมนีพบผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากคลื่นความร้อนกว่า 1,636 คนในเดือนมิถุนายน ซึ่งเดือนนั้นอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 39.2 องศาเซลเซียส ส่วนสาเหตุที่ประเทศในเขตหนาวอย่างเยอรมนีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากที่พักอาศัยไม่ค่อยมีเครื่องปรับอากาศที่ช่วยทำความเย็น ภาครัฐจึงต้องจัดหาที่พักชั่วคราวที่มีเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิอากาศให้เย็นลงในเวลากลางวัน เพื่อให้ประชาชนมาหลบภัยคลื่นความร้อน​

สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศเขตร้อน อาจจะมีความคุ้นชินกับการอาศัยในอากาศร้อนมากกว่าประชาชนในเขตอากาศหนาว และมีอัตราการใช้เครื่องปรับอากาศที่ช่วยทำความเย็นสูงกว่า แต่อย่าลืมว่า การเปิดใช้เครื่องปรับอากาศพร้อมๆ กัน จะทำให้ความต้องการพลังงานพุ่งสูงขึ้นจนเกินกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยประหยัดไฟ​

อีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างภาวะน่าสบาย (Thermal Comfort) ให้กับผู้อยู่อาศัยในอาคาร คือการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม (Passive Design) โดยใช้ปัจจัยธรรมชาติและป้องกันความร้อนเข้าสู่กรอบอาคาร เช่น
• การออกแบบสภาพแวดล้อมโดยรอบอาคารให้เย็นด้วยการปลูกต้นไม้และพืชคลุมดิน​
• การใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม อย่างร่มเงาไม้ แหล่งน้ำ ลมที่พัดเข้าผ่านจะเย็นลง ลดความร้อนก่อนถึงตัวอาคาร​
• การวางผังอาคารที่ลดการกระทบกับแสงแดด (วางทิศทางอาคารตามแนวเหนือใต้)​
• การใช้วัสดุเปลือกอาคารที่มีค่าความต้านทานความร้อนสูง (ฉนวนกันความร้อน)​
• การวางตำแหน่งหน้าต่าง ในทิศทางที่รับแสงแดดโดยตรงให้น้อยที่สุด​

​ทั้งหมดนี้เพื่อให้สร้างสภาวะน่าสบายสูงสุด และช่วยให้มีการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศต่ำลง และอาคารมีประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานสูงขึ้นด้วย​

เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
https://www.scientificamerican.com/article/astonishing-heat-grips-india-and-pakistan/ ​
https://www.bbc.com/news/world-asia-61976937 ​
https://edition.cnn.com/2022/06/28/asia/japan-heatwave-air-conditioning-power-electricity-shortage-climate-change-intl-hnk/index.html ​
https://www.bbc.com/news/world-europe-62206006 ​
https://www.destatis.de/DE/Presse/Pressemitteilungen/2022/07/PD22_295_126.html ​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน