Knowledge - RISC

ความเครียด ภัยอันตรายที่ต้องใส่ใจ

เขียนบทความโดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 เดือนที่แล้ว

368 viewer

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบ และกดดันไปหมด ทำให้ยากที่เราจะหลีกหนี “ความเครียด” ตัวการสำคัญที่นำมาสู่โรคต่างๆ ตามมา​

“ความเครียด” เป็นคำที่แสดงถึงภาวะการตอบสนองของอารมณ์ที่มีต่อสถานการณ์รอบตัว โดยเป็นการตอบสนองอัตโนมัติของร่างกาย เพื่อปรับตัวให้สามารถเข้ากับสถานการณ์ในขณะนั้นๆ อย่างเช่น ช่วงอ่านหนังสือสอบ ทำโปรเจกต์ หรือนำเสนอแผนงานต่อหัวหน้า เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วการเกิดความเครียดเพื่อปรับร่างกายให้เข้ากับการทำงานในขณะนั้น (Acute Stress) จะทำให้ร่างกายเราสามารถทำงาน ขบคิด แก้ปัญหา และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังพบเจอได้ดีขึ้น​

แต่...จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเกิดเครียดซ้ำไปซ้ำมา จนเราร่างกายเริ่มมีปัญหา?​

ความเครียดที่เกิดซ้ำๆ จนกลายเป็น "ความเครียดเรื้อรัง" ที่ร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ (Chronic Stress) จะส่งปัญหาต่อร่างกายในระยะยาว เมื่อเรากำลังทำงาน เราจะเกิดความเครียด แล้วร่างกายของเราก็จะตอบสนองโดยการเตรียมความพร้อมต่างๆ ดึงพลังงานจากทั่วร่างกาย มาเสริมประสิทธิภาพของอวัยวะบางส่วน เพื่อให้เราทำงานได้ดีขึ้น เช่น มีสมาธิมากขึ้น สมองทำงานได้ไวมากขึ้น เร็วมากขึ้น แต่ถ้าเราทำงานต่อไปเรื่อยๆ อวัยวะที่มีความเครียดนั้น จะถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องจนพังในที่สุด ให้เราลองคิดภาพเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเหมือนกับเราเปิดโน้ตบุ๊คโดยไม่เคยปิดให้มันพักเลย สุดท้ายโน้ตบุ๊คก็พัง ซึ่งปัญหาร่างกายพังจาก Chronic Stress นั้น ไม่ได้ส่งผลแค่บางอวัยวะเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงทุกๆ ส่วนในร่างกายของเราด้วย​

ด้านสภาพร่างกายนั้น ปัญหาของความเครียดสะสม มักจะสะท้อนออกมาในสภาพความเสียหายของอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบหลอดเลือดและหัวใจ การขับถ่าย การหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญของร่างกาย และด้านอื่นๆ ซึ่งพบข้อมูลจากงานวิจัยโดย Yuli Huang และคณะ [1] พบว่า ความเครียดจากการทำงานที่เรื้อรังสะสมในร่างกาย เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 22% หรือ Tanya M. Spruill [2] พบว่า ความเครียดเรื้อรัง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และเพิ่มโอกาสการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจมากกว่าคนปกติที่ไม่มีภาวะเครียดเรื้อรังกว่า 50% เช่นกัน หรือแม้แต่ปัญหาการนอนก็สามารถเกิดจากความเครียดเรื้อรังได้ พบข้อมูลจากงานวิจัยของ David A. Kalmbach และคณะ [3] ได้อธิบายถึงกลไกปัญหาการนอนที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง โดยร่างกายขณะที่มีความเครียด จะเหมือนถูกกระตุ้นให้พร้อมทำงานต่างๆ ตลอดเวลา ทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท หรือนอนไม่หลับ ส่งผลต่อการเกิดปัญหาในระยะยาวนั่นเอง​

นอกจากความเสียหายทางกายแล้ว ทางจิตใจเองก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยความเครียดเรื้อรังนั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคทางจิตตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลก็ตาม พบอ้างอิงจากงานวิจัยของ Paula Cristóbal-Narváez และคณะ [4] พบความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดของโรคซึมเศร้าและโรคเครียดเรื้อรัง ซึ่งความเครียดเรื้อรังนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือจากงานวิจัยของ Nuria Daviu และคณะ [5] ได้อธิบายความเชื่องโยงของโรควิตกกังวล (Anxiety) ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง​

เราเห็นได้ชัดเลยว่า "ความเครียดเรื้อรัง" เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งในครั้งหน้า เราจะมาดูกันว่า เราจะพักจากความเครียดอย่างไรได้บ้าง​

เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
[1] Association Between Job Strain and Risk of Incident Stroke​
[2] Association Between High Perceived Stress Over Time and Incident Hypertension in Black Adults: Findings From the Jackson Heart Study​
[3] The Impact of Stress on Sleep: Pathogenic Sleep Reactivity as a vulnerability to Insomnia and Circadian Disorders​
[4] Perceived stress and depression in 45 low- and middle-income countries​
[5] Neurological Links Between Stress and Anxiety​

แนะนำสำหรับคุณ

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน