ติด Wallpaper อย่างไร? ให้ปลอดเชื้อรา ลดภูมิแพ้
เขียนบทความโดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 6 เดือนที่แล้ว
บ้านของใครติดวอลเปเปอร์บ้าง? ยกมือขึ้น!
ภายใต้การปกปิดด้วยสีสันและลวดลายที่สวยงาม อาจมีอันตรายซ่อนอยู่!! เพราะด้วยสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น (Hot-Humid Climate) ของบ้านเรา ที่มีทั้งความร้อนและความชื้นสูง จึงทำให้เกิดการสะสมความชื้นในผนังบ้านได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการรั่วซึมน้ำฝนที่ผนังหรือหลังคา รวมถึงระบบท่อน้ำที่เสียหายชำรุด ก็ยิ่งทำให้ปัญหานั้นรุนแรงขึ้น
ไม่เพียงแค่นั้น การเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นภายในห้องพักหรือบ้านเรือน ที่อุณหภูมิประมาณ 25-27 °C ภายใต้อุณหภูมิอากาศภายนอกอาคารที่สูงมากกว่า 36 °C และความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงมากกว่า 60%RH โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกิดการควบแน่นและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ (Condensation) ที่ภายในเนื้อวัสดุผนัง หรือที่ผิวผนังด้านใดด้านหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดอุณหภูมิจุดน้ำค้าง (Dew Point Temperature) เนื่องจากความร้อนปะทะกับความเย็น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับการมีฝ้าไอน้ำเกาะตามผิวกระจก หรือการที่มีหยดน้ำเกาะด้านข้างของแก้วน้ำเย็นนั่นเอง
แผนภูมิที่ 1 Psychrometric Chart แสดงอุณหภูมิจุดน้ำค้างที่ 28 °C เมื่ออุณหภูมิอากาศภายนอก 36 °C และความชื้นสัมพัทธ์ 60%RH
ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้มีความชื้นสะสมอยู่ในผนังบ้าน เราจึงไม่ควรใช้วัสดุอื่นปิดกั้น หรือควรเลือกใช้วัสดุที่ยอมให้ความชื้นระบายออกจากผนังได้เร็วที่สุด
แต่หากมีการตกแต่งผิวผนังหรือมีวัสดุอื่นปิดกั้นการระบายความชื้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการติดตั้งวอลเปเปอร์ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสวยงามและยังช่วยปกปิดปัญหาความไม่เรียบร้อยของผนังก่ออิฐหรือผนังคอนกรีตได้เป็นอย่างดีนั้น อาจกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฝุ่นและสิ่งสกปรก ที่จะก่อให้เกิดเชื้อราตามมา และกลายเป็นมลพิษทางอากาศและเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการภูมิแพ้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว
รูปที่ 1 การเกิดการควบแน่นที่ผนังอาคาร
รูปที่ 2 การเกิดเชื้อราที่ผนังอาคาร เนื่องจากวัสดุปิดผิวไม่สามารถระบายความชื้นออกได้
รูปที่ 3 แสดงวิธีการติดตั้งวอลเปเปอร์ เพื่อลดปัญหาการเกิดเชื้อราที่ผนังอาคาร
แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องตกแต่งบ้านด้วยวอลเปเปอร์ RISC มีข้อแนะนำวิธีการเลือกใช้วัสดุและแนวทางการติดตั้งตามนี้...
• ตรวจสอบและแก้ไขปัญหารอยร้าวหรือการรั่วซึมให้เรียบร้อย และรอให้ผิวผนังแห้งสนิท ป้องกันความชื้นสะสม
• ทาน้ำยารองพื้นป้องกันความชื้นที่มีส่วนผสมป้องกันเชื้อรา
• เลือกใช้กาวที่ไม่มีสารพิษ ไม่มีส่วนผสมที่เป็นอาหารของเชื้อรา และมีปริมาณสารระเหยต่ำ (Low VOCs)
• เลือกวอลเปเปอร์ชนิดที่สามารถระบายความชื้นได้ (Breathable Wallpaper) และเลือกหมึกพิมพ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่มีสารพิษ
วอลเปเปอร์ไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้าเราสามารถควบคุมปัจจัยทางสภาพแวดล้อมภายในบ้านของเราได้อย่างดี แต่หากประเมินแล้วว่า การควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ก็ควรหลีกเลี่ยงการติดวอลเปเปอร์สำหรับห้องพักอาศัย โดยเฉพาะห้องนอน เพื่อลดความเสี่ยงของการอยู่ร่วมกับเชื้อรา
แล้วครั้งสุดท้ายที่คุณสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผนังบ้าน...คือเมื่อไหร่?
เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC