ต้นไม้กับการพยากรณ์อากาศ สัญญาณธรรมชาติที่คุณอาจมองข้าม
เขียนบทความโดย RISC | 10 ชั่วโมงที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 10 ชั่วโมงที่แล้ว
เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า หากอยากรู้ว่าต้นไม้มีอายุเท่าไหร่ ให้สังเกตที่วงปีของต้นไม้ แต่...รู้หรือไม่ว่า สีและความกว้างของวงปีนั้น ยังสามารถบอกได้ถึงสภาพอากาศได้อีกด้วย?
ต้นไม้สามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมผ่านกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ต้นไม้อยู่รอดในธรรมชาติ โดยการตอบสนองนั้น ก็มีตั้งแต่การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความชื้นและอุณหภูมิ, การปรับตัวตามฤดูกาล เช่น การผลัดใบ, การส่งสัญญาณผ่านราก การส่งกลิ่นไปในอากาศ เมื่อเกิดการถูกรบกวน และการตอบสนองผ่านการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่ง เมื่อต้องการรองรับแรงลม
สภาพอากาศอย่างฝนตกตลอดไปจนอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลต่อการออกดอก และการเจริญเติบโตของต้นไม้เช่นเดียวกัน ต้นไม้บางชนิดสามารถสะสมพลังงาน เพื่อรอให้ถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก่อนที่จะแพร่พันธุ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “ต้นยางนา”
ต้นยางนา ได้รับการขนานนามว่า เป็นต้นไม้ที่มีความสามารถในการพยากรณ์สภาพฝนฟ้าได้ โดยอาศัยการออกดอก และการติดผล ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อม เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝน การที่ต้นยางนาออกดอกและผลในปริมาณมาก มักเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงฤดูฝนที่อุดมสมบูรณ์ในปีนั้น โดยจากการเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ของการติดดอกออกผลของต้นยางนา และปริมาณน้ำฝนของอาจารย์นพพร นนทภา มาเป็นเวลากว่า 10 ปีนำไปสู่การประมวลผล และจัดเก็บเป็นชุดข้อมูลไว้ใช้ทำนายฝนในต่างสถานที่ได้ และสามารถบอกได้ถึงทิศทางการมาของพายุฝนได้อีกด้วย
ความสามารถเหล่านี้อาจไม่ได้หมายถึงการพยากรณ์อากาศเหมือนมนุษย์ แต่เป็นกลไกการปรับตัวเชิงวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพของต้นไม้ ซึ่งยิ่งต้นไม้มีอายุมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศในพื้นที่นั้นได้แม่นยำมากขึ้น
เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก โรงเรียนปลูกป่า (Forest Plantation School)