Knowledge - RISC

ถูกไฟฟ้าดูด เราควรทำอย่างไรให้รอด

เขียนบทความโดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 เดือนที่แล้ว

257 viewer

จากบทความครั้งที่แล้ว เราพูดถึงการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้า (อ่านย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/45YXDnM) เพื่อแก้ปัญหาไฟดูด ไฟรั่วภายในบ้านกันไปแล้ว คราวนี้เราจะพูดถึงกรณีถ้ามีเหตุฉุกเฉินขึ้นจากการถูกไฟฟ้าดูด เราควรรับมือและปฏิบัติอย่างไร? ถึงจะถูกต้องและปลอดภัย​

โดยคนที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูด กระแสไฟจะไหลผ่านหัวใจทำให้หัวใจหยุดทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท หากกระแสไฟฟ้ามีแรงสูงมากๆ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านถูกทำลายอย่างรุนแรง และจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องได้ บางคนอาจมีอาหารชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว และหมดสติ​

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากเราพบเห็นผู้ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต สามารถทำได้โดย...​

- รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ระหว่างการเข้าช่วยเหลือ หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทันเวลา เพราะการจะได้รับอันตรายมากหรือน้อย จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด รวมทั้งการช่วยเหลือที่ถูกวิธี ก็จะเพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้ประสบเหตุได้​
- รีบหาแหล่งที่เกิดไฟฟ้ารั่วและรีบตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อน เพื่อให้ผู้ที่เข้าช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ให้ถูกไฟดูดหรือเป็นผู้ประสบเหตุไปด้วย​
- หากถูกไฟฟ้าดูด และมีสายไฟพาดผ่านตัวอยู่ จะต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวน ไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ เชือกที่แห้ง สายยาง ถุงมือยาง หรือผ้าแห้งพันมือให้หนา จากนั้นให้ผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบเหตุให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือเขี่ยสายไฟให้ตัวผู้ประสบเหตุออกจากกระแสไฟ​
- หากเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูงควรแจ้งการไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ตัดกระแสไฟฟ้า รวมถึงโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพสายด่วน 1669​
- หากผู้ประสบเหตุถูกไฟดูดในบริเวณที่มีน้ำขัง ผู้ที่เข้าช่วยเหลือห้ามลงไปในน้ำโดยเด็ดขาด ควรตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ​
- การเข้าไปช่วยเหลือต้องรวดเร็ว รอบคอบ และระมัดระวัง จากนั้นห่อหุ้มบริเวณที่ถูกไฟดูดด้วยผ้าแห้ง และหากมีบาดแผลบริเวณนั้นหรือไม่แน่ใจว่ามีการบาดเจ็บของผิวหนังและเนื้อเยื่อของร่างกายบริเวณที่ถูกสัมผัสหรือไม่ ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที​

อย่าลืม! ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเราเตรียมพร้อมและระมัดระวัง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าได้​

นอกจากนี้ การศึกษาและฝึกฝนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดไฟดูด ก็เป็นอีกสิ่งที่เราทุกคนควรสนใจศึกษาไว้บ้าง เพราะเมื่อเกิดเหตุเราจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเก็บหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยกู้ภัย โรงพยาบาลไว้ใกล้มือ เพื่อเรียกขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน​

การป้องกันไฟรั่ว ไฟดูดในช่วงหน้าฝนไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราหมั่นตรวจสอบและดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการง่ายๆ เหล่านี้ ทุกคนก็สามารถป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว ไฟดูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ชีวิตในช่วงหน้าฝนอย่างสบายใจและปลอดภัย​

เนื้อหาโดย คุณ มนตรี ภูแล่นคู่ วิศวกรวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้าน Well-Being Research Integration และ Building Infrastructure, RISC

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน