ทำไมประเทศไทย...ฤดูไหนก็ร้อน?
เขียนบทความโดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 8 เดือนที่แล้ว
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำติดตลกที่ว่า ประเทศไทยเรานั้นมี 3 ฤดู ก็คือ ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก ฤดูร้อนมากๆๆๆ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วมันคือความจริงที่เราเองก็คงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
อย่างที่เรารู้กัน อากาศบ้านเราแบ่งออกเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่ทำไม...เราจึงรู้สึกถึงสภาพอากาศที่ร้อนอยู่ตลอด งั้นวันนี้เราลองมาหาคำตอบนี้กัน
เรามักจะเจอคำว่า Feels Like Temperature ปรากฏอยู่เสมอเมื่อเช็กอุณหภูมิอากาศ ซึ่ง Feels Like Temperature หรืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Perceived Temperature) มักเป็นตัวเลขที่มีค่าสูงกว่าอุณหภูมิอากาศที่ปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์ นั่นก็เพราะ Feels Like Temperature เป็นตัวเลขที่วิเคราะห์จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ค่าอุณหภูมิอากาศ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และค่ารังสีดวงอาทิตย์
เพื่อการตรวจสอบทฤษฎีข้างต้น RISC จึงจำลองผล เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องของข้อมูลดังกล่าว
ข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตินิยมวิทยาในปี 2564 ได้ระบุว่า ในฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 36 oC, 34 oC และ 33.5 oC ตามลำดับ ส่วนค่าความชื้นสัมพัทธ์และความเร็วลมจาก Foreca แหล่งข้อมูลด้านพยากรณ์อากาศที่แม่นยำระบุว่า ค่าความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ 73.33%RH ฤดูฝนอยู่ที่ 76%RH และฤดูหนาวอยู่ที่ 69.5%RH ความเร็วลมเฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ 6 km/hr ฤดูฝนอยู่ที่ 4 km/hr และฤดูหนาวอยู่ที่ 4.75 km/hr
ส่วนค่ารังสีดวงอาทิตย์เมื่อใช้เครื่องมือ Simulation Software วิเคราะห์ เราจะพบตัวเลขความเข้มข้นของรังสีที่น่าสนใจว่า ภายในหนึ่งวันของฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวเราได้รับรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 0.41 kWh/m2, 0.25 kWh/m2 และ 0.38 kWh/m2 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพท้องฟ้าที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อนที่มีลักษณะโปร่ง มีเมฆน้อย จึงทำให้รังสีจากดวงอาทิตย์ส่งมายังโลกได้โดยตรง ในขณะที่ฤดูฝนจะมีท้องฟ้าที่แปรปรวน มีเมฆมาก จึงสามารถช่วยบดบังรังสีจากดวงอาทิตย์ได้
ซึ่งจากการวิเคราะห์ชุดข้อมูลร่วมกัน จึงพบว่า...
• ฤดูร้อนมีค่าอุณหภูมิ ความเร็วลม ค่ารังสีดวงอาทิตย์สูงที่สุด และค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นอยู่ที่ 42.7 oC
• ฤดูฝนมีค่าอุณหภูมิปานกลาง มีค่าความชื้นสัมพัทธ์สูงที่สุด และค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นอยู่ที่ 41 oC
• ฤดูหนาวมีค่าอุณหภูมิ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และค่ารังสีดวงอาทิตย์ต่ำที่สุด และค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นอยู่ที่ 38.4 oC
จะเห็นได้ว่าเรามักรู้สึกถึงอุณหภูมิอากาศที่สูงกว่าค่าที่ปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์ เนื่องจากมีปัจจัยด้านความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และค่ารังสีดวงอาทิตย์มาเป็นส่วนประกอบ ทำให้ค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Perceived Temperature) มีตัวเลขที่สูงขึ้น
ในฤดูร้อน แม้มีค่าอุณหภูมิอากาศและรังสีดวงอาทิตย์ที่สูง การมีลมพัด แม้ไม่สามารถลดอุณหภูมิลงได้จนอยู่ในช่วงสภาวะน่าสบาย แต่ยังช่วยให้เรารู้สึกถึงอุณหภูมิที่ลดลงได้ และหากอยู่ในสภาพแวดล้อมอยู่ในช่วงอุณหภูมิอากาศระหว่าง 22-29 oC หรือต่ำกว่าการมีความเร็วลมเพิ่มขึ้น 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/hr) เราจะรู้สึกเสมือนเย็นลง 0.4 °C นอกจากนี้ การมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงกว่าเขตสบาย 20-75% ของฤดูฝน ก็มีส่วนที่ทำให้เรารู้สึกยิ่งร้อนและไม่สบายตัวเช่นกัน เนื่องจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ยิ่งสูง จะยิ่งทำให้รู้สึกร้อนอบอ้าว เพราะอัตราการระเหยของเหงื่อจากร่างกายลดลงนั่นเอง
การใช้ Simulation Software เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ ทำให้เราสามารถคาดคะเนผลลัพธ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ ซึ่งผลจากการ Simulation รังสีดวงอาทิตย์ยังสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการออกแบบ หรือการวางทิศทางของอาคารที่ส่งผลต่อภาวะน่าสบายตลอดปีในทุกฤดูกาลได้อีกด้วย
ปัจจุบัน RISC มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ (Sun Path) โดยใช้ BIM (Building Information Modeling) Simulation Software สร้างแบบจำลองเสมือนของอาคาร ศึกษาความเข้มข้นของรังสีแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบมายังพื้นผิว และแสดงผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ บนพื้นฐานข้อมูลสภาพอากาศของประเทศไทย หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อเข้ามาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ RISC ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ผ่านทาง Inbox RISC Well-Being Facebook หรือ RISC LINE Official : risc_center
เนื้อหาโดย คุณ ปาณิสรา สุจริตกุล สถาปนิกวิจัย Well-Being Research Integration, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
ค่าอุณหภูมิอากาศ https://weather-and-climate.com/Bangkok-January-averages
สภาพท้องฟ้า http://164.115.28.46/thaiexen/search_detail/result/8374
ค่าความชื้นสัมพัทธ์และความเร็วลม https://weather-and-climate.com/Bangkok
ค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Perceived Temperature) https://planetcalc.com/2089/
ลดแอร์ เปิดพัดลม ช่วยลดค่าไฟ (ความเร็วลมทำให้เรารู้สึกเย็น) https://risc.in.th/knowledge/electric-fan-saves-more-energy#:~:text=%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%99,C%20%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%A1
ทำไมถึงรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิที่วัดได้? (ความชื้นสัมพัทธ์ทำให้เรารู้สึกร้อน) https://mgronline.com/science/detail/9630000049979#:~:text=%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8,%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%86%20%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87