ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องแสงธรรมชาติ?
เขียนบทความโดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 8 เดือนที่แล้ว
แสงธรรมชาติเปรียบเสมือนเพื่อนสนิทคนนึงของเรา เพราะว่าแสงธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามาตั้งแต่ที่เราลืมตาตื่นขึ้นมาครั้งแรก แต่ปัจจุบันเรามักจะหนีห่างจากแสงธรรมชาติ จากความกังวลเรื่องความร้อนและรังสีต่างๆ"
ซึ่งจริงๆ แล้ว ความร้อนและรังสีต่างๆ เหล่านี้มาจาก "แสงแดด" แต่สิ่งที่เราขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน ก็คือ "แสงสว่าง" จากธรรมชาติ ที่ช่วยเรื่องของการมองเห็น การตื่น การนอนหลับ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา การได้รับแสงสว่างเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพ ส่งผลต่อการฟื้นตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงรักษาอาการจากภาวะทางอารมณ์ได้ ตลอดจนมีการศึกษาที่กล่าวว่า การมองเห็นธรรมชาติและแสงสว่างที่มากขึ้นนั้น จะส่งผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นได้อีกด้วย
International WELL Building Institute (IWBI) ผู้ออกแบบมาตรฐาน WELL และ U.S. Green Building Council ผู้กำหนดเกณฑ์ LEED ได้ให้ความสำคัญกับการนำแสงสว่างจากธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ใช้งานภายในอาคาร โดยเน้นไปที่ค่าการรับแสงสว่างจากธรรมชาติที่จะเข้ามาภายในอาคาร 2 ประเภท ก็คือ...
• การได้รับ "แสงแดด" ประจำปี (Annual sunlight exposure : ASE) โดยกำหนดให้อาคารสามารถรับแสงธรรมชาติได้มากกว่า 1,000 ลักซ์ เป็นเวลา 250 ชั่วโมงในแต่ละปี และไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ยอมรับได้ในการให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในอาคารที่สมดุลระหว่างการได้รับแสงแดดที่เพียงพอสำหรับสุขภาพ และการควบคุมความร้อนภายในอาคาร
• ร้อยละของพื้นที่ที่ได้รับ "แสงสว่าง" เพียงพอในระยะเวลา 1 ปี (Spatial Daylight Autonomy : sDA) โดยกำหนดให้การได้รับแสงธรรมชาติอย่างน้อย 300 ลักซ์เป็น เวลาอย่างน้อย 50% ของชั่วโมงการทำงานในแต่ละปี โดยคิดเป็น 55%, 75% หรือ 90% ขึ้นไปของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งยิ่งแสงสว่างจากธรรมชาติเข้าถึงพื้นที่มาก ก็จะยิ่งทำคะแนนจากเกณฑ์ได้มากเช่นกัน (USGBC, 2018)
เราจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ค่า ไม่มีการกำหนดค่าความสว่างสูงสุดตายตัว เพราะกิจกรรมที่ใช้ในพื้นที่มีความต้องการความสว่างสูงสุดไม่เท่ากัน รวมไปถึงชั่วโมงการทำงานในแต่ละฤดูกาลที่แสงสว่างไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้เท่ากัน จึงกำหนดค่าเป็นชั่วโมงรวมแทน
นอกจากนี้ IWBI ยังมีการกำหนดให้มีพื้นที่ทำงานริมหน้าต่างในระยะ 6 – 7 เมตร ในอัตราส่วนร้อยละ 30 ของพื้นที่ทำงานในแต่ละชั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการจำลองแสงสว่างที่สังเกตได้ว่า ในระยะห่างที่เกิน 6 - 7 เมตร ค่าความสว่างในพื้นที่จะลดลงต่ำกว่า 300 ลักซ์ ซึ่งถือว่าเป็นความสว่างที่ไม่เพียงพอต่อการทำงาน และต้องได้รับการปรับปรุงความสว่างด้วยแสงประดิษฐ์
จากแบบจำลองแสงสว่างในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 15.00 น. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตำแหน่งการใช้งานพื้นที่ในแต่ละด้านของอาคารได้ว่า ภายในห้องทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าแสงสว่างเฉลี่ย 1,078 ลักซ์ โดยไม่มีแสงแดดสาดเข้ามาภายในห้อง ส่วนห้องในทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นห้องที่มีค่าแสงสว่างมากเกินไปเฉลี่ยสูงที่สุด 11,229 ลักซ์ ซึ่งมาพร้อมกับแสงแดดที่มีความร้อน ทิศตะวันตกเฉียงใต้จึงเป็นทิศที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรใช้เป็นพื้นที่ทำงานเป็นประจำ
การออกแบบอาคารจึงมีผลอย่างมากต่อการได้รับแสงธรรมชาติของผู้ใช้งานอาคาร และเป็นหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบบจำลอง Computer Simulations คำนวณความถูกต้องของค่า ASE และ sDA ตั้งแต่ช่วงต้นของการออกแบบ เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ใช้งานอาคารได้รับแสงธรรมชาติที่เหมาะสม
เมื่อเรารู้ถึงความสำคัญของแสงแดดแล้ว...อย่าลืม! ขยับโต๊ะ เลื่อนเก้าอี้ รับแสงธรรมชาติกันด้วยนะ รับรองว่าการทำงานของทุกคน จะไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป
ครั้งต่อไป เราจะมาดูกันว่า หากหันหน้าตรงเข้าหาแสงในรูปแบบแสงที่ไม่ดีต่อเรา จะเกิดผลเสียอย่างไร? และหากใครสนใจความรู้เกี่ยวกับแสง หรือหากต้องการทำแบบจำลอง Simulations เพื่อให้เราช่วยประเมินประสิทธิภาพของแสง สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ RISC ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ผ่านทาง Inbox RISC Well-Being Facebook หรือ RISC LINE Official : risc_center
เนื้อหาโดย คุณ วชรกรณ์ มณีโชติ สถาปนิกวิจัย Well-Being Research Integration, RISC