ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
อย่างที่เรารู้กัน อุตสาหกรรมก่อสร้างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 39% ของการปลดปล่อยจากอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งจากหลายๆ โพสต์ที่ผ่านมา เราคงได้เห็นถึงแนวทางหรือนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้กันมาบ้าง ซึ่งวันนี้ก็จะมีอีกหนึ่งแนวทางที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ก่อนอื่นเรามาให้เห็นภาพชัดๆ กันก่อน...
39% ของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง แบ่งเป็นการใช้พลังงานในอาคาร (Operation Carbon) 28% อย่างเช่น การใช้ไฟฟ้าในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในอาคาร และอีก 11% เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งตัววัสดุก่อสร้างเอง (Embodied Carbon) เช่น คอนกรีตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.92 tonCO₂ /ton ส่วนเหล็กปล่อย 1.4 tonCO₂ /ton แม้การผลิตเหล็กจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า แต่การก่อสร้างมีปริมาณการใช้คอนกรีตที่เยอะกว่าเหล็ก จึงทำให้คอนกรีตกลายเป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้มีการคิดค้นหาทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นคือ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เชื่อว่าคงมีคนเคยได้ยินมาบ้าง แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าคืออะไร? แล้วลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริงหรือ?
ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยได้มีการรณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนหันมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มีองค์ประกอบหลักเป็นปูนเม็ดสูงถึง 93% ซึ่งเจ้าปูนเม็ดที่ว่าได้มาจากการระเบิดภูเขาหินปูนและผ่านกระบวนการเผาที่อุณหภูมิสูง 1400-2000 °C ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล ในขณะที่ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีการแทนที่ปูนเม็ดด้วยวัสดุอื่น อย่างเช่น ยิปซั่ม เถ้าลอย รวมไปถึงกากจากอุตสาหกรรม เช่น ตะกรันเหล็ก ประมาณ 10% จึงทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 0.052 tonCO₂ / ปูน 1 ton แม้ค่าการปล่อยลดลงน้อย แต่การก่อสร้างใช้ปริมาณปูนเยอะ จึงช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก
ปัจจุบันทางภาครัฐได้สนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกอย่างเต็มที่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนด ปรับปรุง และแก้ไขมาตรฐานให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดสูง รวมทั้งงานที่ต้องทนต่อการกัดกร่อน เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงถูกวางไว้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thaicma.or.th/th/substitution/cement_industry/clinker-substitution#3
https://cleantechnica.com/2020/09/14/reducing-emissions-from-cement-and-steel-production/
https://www.sustainable-ships.org/stories/2022/carbon-footprint-steel