Knowledge - RISC

ฝุ่นมาจากไหน? ช่วงเวลาใด? เราจะได้ตั้งหลัก (หนี) ทัน

เขียนบทความโดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 7 เดือนที่แล้ว

1370 viewer

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปี แต่มีใครรู้บ้างว่าฝุ่นเหล่านี้มาจากไหนกันบ้าง?​

แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ กว่า 57% มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ (แบ่งเป็นรถยนต์ดีเซล 46% และรถยนต์เบนซินอีก 11%) 22% มาจากการเผาไหม้ชีวมวล ทั้งในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่งที่มาจากพื้นที่อื่นร่วมด้วย ส่วนที่เหลืออีก 21% จะเป็นฝุ่นทุติยภูมิ หรือก็คือ ฝุ่นละอองที่เกิดจากองค์ประกอบทางเคมีของก๊าซในบรรยากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO₂) เมื่อโดนแสงแดดและความร้อนจะทำให้เกิดปฏิกิริยาสร้าง PM2.5 ขึ้นมาเพิ่มเติม​

เราจะเห็นว่า กิจกรรมและปัจจัยแวดล้อมที่ก่อให้เกิด PM2.5 นั้น จะเกิดในช่วงเวลากลางวันไปจนถึงเวลาเย็นเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำไมค่า PM2.5 กลับมาเข้มข้นมากจนเกินมาตรฐานในช่วงเวลากลางคืนไปจนถึงรุ่งเช้า? เราลองมาดูคำตอบนี้กัน​

จากการศึกษาเรื่องความเข้มข้นกับการเปลี่ยนแปลงภายในวันของ PM2.5 โดยอ้างอิงจากวันที่ไม่มีความแปรปรวนของอากาศ พบว่า ความเข้มข้นของฝุ่นละอองในช่วงกลางคืนตั้งแต่ 19:00 - 06:00 น.มีมากที่สุด และช่วงเช้าตั้งแต่ 06:00 - 12:00 น.จะมีความเข้มข้นมากกว่าช่วงเวลากลางวันตั้งแต่ 12:00 - 19:00 น.เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร หรือ พื้นที่ต่างจังหวัดก็ตาม​

สภาพอุตุนิยมวิทยาสามารถอ้างอิงจากค่าอัตราการระบายอากาศ (Ventilation flow rate; m²/s) ซึ่งค่าอัตราการระบายอากาศนี้ เป็นผลร่วมของความเร็วลม (Wind speed, m/s) และค่าความสูงชั้นบรรยากาศ (Planetary Boundary Layer (PBL); meter) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยค่า PBL นั้น เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้พื้นผิวโลกที่มีความปั่นป่วน (Turbulence) จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นดินและบรรยากาศชั้นล่างที่มีผลต่อการแพร่กระจายมลพิษอากาศ หรือก็คือ สภาพอากาศที่มีระดับ PBL สูง จะทำให้อากาศมีโอกาสที่จะแพร่กระจายในแนวดิ่งได้มากขึ้น และทำให้ความเข้มข้นมลพิษอากาศระดับล่างลดลง หากสภาพอากาศที่มีค่า PBL ต่ำก็จะมีผลตรงข้ามกัน​

หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ความหนาแน่นของ PM2.5 ที่มีมากในช่วงเวลากลางคืน ก็คือ ผลของกิจกรรมการสร้าง PM2.5 ในเวลากลางวัน แต่ไม่สามารถระบายอากาศออกได้ทัน เนื่องจากอัตราการระบายอากาศที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง ​

เมื่อเรารู้ว่าความหนาแน่นของ PM2.5 มักเกิดในช่วงกลางคืนไปจนถึงช่วงเช้า การออกกำลังกายยามเช้าหรือตอนดึกมากๆ ในช่วงฤดูฝุ่นไม่เป็นผลดี ควรหลีกเลี่ยง และที่สำคัญก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เราควรตรวจสอบค่าอัตราการระบายอากาศเบื้องต้น จากกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีการพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน เราจะได้สามารถตั้งหลักและพร้อมรับมือกับฝุ่นได้ทันท่วงที ​

สามารถตรวจสอบค่าอัตราการระบายอากาศได้จาก http://ozone.tmd.go.th/Daily_VR.html

เนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ TREES-A, Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
กรมอุตุนิยมวิทยา http://ozone.tmd.go.th/Daily_VR.html​
การเปลี่ยนแปลงภายในวันของ PM10 และความสัมพันธ์กับ พารามิเตอร์อุตุนิยมวิทยาในภาคเหนือของประเทศไทย http://164.115.28.46/thaiexen/file_upload/submitter/file_doc/108864782a2b951d956f1a72ffcf0dfeb22b1.pdf​
สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน