Knowledge - RISC

ฝุ่นมีผลต่อสุขภาพเราอย่างไร? ใครต้องระวังบ้าง?

เขียนบทความโดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 สัปดาห์ที่แล้ว

74 viewer

เมื่อ "ฝุ่น" กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การรู้เท่าทันและป้องกันตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด "การใส่ใจเรื่องฝุ่นในวันนี้ อาจช่วยป้องกันโรคร้ายในอนาคต" ​

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครและในอีกหลายจังหวัด ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในระดับที่สูงเกินมาตรฐานอยู่บ่อยครั้ง หลายคนอาจเริ่มคุ้นเคยกับภาพท้องฟ้าที่มัวหมอง มองเห็นเพียงหมอกฝุ่น แทนที่จะเป็นฟ้าสดใส และการแจ้งเตือนค่าฝุ่นอันตรายในข่าวทุกวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะไม่เพียงทำลายทัศนวิสัย แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของเราอีกด้วย​

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลพุ่งสูงจนติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก ผู้คนต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เช่น การสวมหน้ากากกันฝุ่น การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอาคาร หรือแม้แต่หลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้ง แต่ก็ยังมีหลายคนไม่ทราบว่า ฝุ่นละอองเหล่านี้มีผลกระทบต่อร่างกายมากแค่ไหน และใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ​

ฝุ่นละอองที่เราพูดถึงกันบ่อย เช่น PM2.5 และ PM10 คืออนุภาคขนาดเล็กในอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการเผาป่า โดยเฉพาะ PM2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า ทำให้มันสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย มันไม่ได้หยุดอยู่ที่จมูก หรือปอดเท่านั้น แต่ยังสามารถเดินทางไปยังอวัยวะอื่นๆ และสร้างปัญหาสุขภาพกับเราได้​

แล้วใครบ้างที่ต้องระวังเป็นพิเศษ? ​

แม้ว่าฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อทุกคนที่สูดอากาศเข้าไป แต่บางกลุ่มก็มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพร่างกายที่เปราะบาง หรือมีปัจจัยทางสุขภาพที่ทำให้ผลกระทบจากฝุ่นรุนแรงขึ้น มาดูกันว่ากลุ่มไหนที่ควรเฝ้าระวังและดูแลตัวเองมากที่สุด​

- เด็กเล็ก: เด็กๆ มีระบบทางเดินหายใจ และปอดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ การสูดฝุ่นเข้าไปในปริมาณมาก อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปอดในระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ​
คำแนะนำเบื้องต้น: ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กออกนอกบ้านในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้านเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ​

- ผู้สูงอายุ: เมื่ออายุมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง รวมถึงการทำงานของปอดและหัวใจก็ลดลงเช่นกัน ฝุ่น PM2.5 สามารถกระตุ้นโรคประจำตัวได้ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง กำเริบหรือรุนแรงขึ้น​
คำแนะนำเบื้องต้น: ดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านในวันที่ค่าฝุ่นสูง และพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจไม่ออกหรือเจ็บหน้าอก ​

- หญิงตั้งครรภ์: ฝุ่นละอองสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ และส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เช่น น้ำหนักแรกเกิดต่ำ คลอดก่อนกำหนด หรือพัฒนาการล่าช้า การสูดอากาศที่ปนเปื้อนฝุ่น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์​
คำแนะนำเบื้องต้น: หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษสูง สวมหน้ากาก N95 หรือ KF94 หากต้องออกไปข้างนอก และใช้เครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมภายในบ้าน​

- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง: กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือโรคภูมิแพ้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการกำเริบจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งฝุ่นสามารถกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย และส่งผลให้การทำงานของอวัยวะที่มีปัญหาแย่ลง​
คำแนะนำเบื้องต้น: ผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตัวเองในช่วงค่าฝุ่นสูง และพกยาประจำตัวติดตัวไว้เสมอ​

- ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง: คนงานก่อสร้าง คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือพ่อค้าแม่ค้าริมถนน เป็นกลุ่มที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นในปริมาณมากและต่อเนื่อง การสูดฝุ่นเข้าไปทุกวันอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจในระยะยาว​
คำแนะนำเบื้องต้น: หากต้องทำงานกลางแจ้งในช่วงค่าฝุ่นสูง ควรสวมหน้ากาก N95 อย่างถูกวิธี และพักในพื้นที่ปลอดฝุ่นเท่าที่เป็นไปได้ ​

นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ควรใส่ใจด้วย เช่น ​
- ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง: การหายใจเร็วขึ้นขณะออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายรับฝุ่นเข้าไปในปริมาณมากกว่าปกติ ​
- ผู้ที่สูบบุหรี่: ฝุ่นละอองยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคปอดและโรคหัวใจในผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่อยู่แล้ว ​

ไม่ว่าเราจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ การป้องกันตัวเองจากฝุ่นละอองนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรต้องทำ เพราะสุขภาพที่ดีเริ่มต้นจากการใส่ใจ และดูแลตัวเองในทุกวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฝุ่นที่รุนแรงแบบนี้​

เนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, ActiveScore AP, RISC​

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน