ภาวะโลกเดือดจะส่งผลอะไรในอนาคตบ้าง?
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
คงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า “โลกร้อน” หรือ “โลกรวน” หรือถ้าอธิบายแบบให้เข้าใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดอากาศสุดขั้ว ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์นี้ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น การเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่บนเกาะโรดส์ ประเทศกรีซ หรือบนเกาะเมาวี ในรัฐฮาวายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ทำให้ต้องอพยพประชาชนจำนวนมาก และยังมีผู้เสียชีวิตอีกด้วย
แต่ทุกสิ่งเหมือนจะดูเลวร้ายลงไปอีก เมื่อเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกแถลงเตือนว่า ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง แต่ "ยุคโลกเดือด" ได้มาถึงแล้ว เนื่องจากรายงานของหน่วยวิจัยของสหภาพยุโรป (Copernicus Earth Observation Programme) ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยรายวันทั่วโลกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
ผลที่อาจจะตามมา คือ สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อนถล่ม น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่าที่เกิดง่าย และลุกลามเป็นวงกว้าง พายุที่มีความรุนแรงมากขึ้น น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงจนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต น้ำทะเลเป็นกรดจนเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหลายชนิด สำหรับผลกระทบที่ใกล้ตัวคนเมือง อย่างเช่น การที่ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลต่อการเพาะปลูก การประมงและปศุสัตว์ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และมีราคาสูงขึ้นด้วย
การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจ และร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และยังเป็นการช่วยกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศของโลกเราให้อยู่อย่างยาวนานอีกด้วย นอกจากนี้การช่วยกันคนละไม้ละมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหา น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
MQDC ตั้งเป้า Nature Positive & Carbon Negative 2050 คลิกอ่านต่อที่ https://bit.ly/3s35Fwe
เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.theguardian.com/science/2023/jul/27/scientists-july-world-hottest-month-record-climate-temperatures
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/article/chaengsibia/article-2023sep05.html