Knowledge - RISC

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน

เขียนบทความโดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 5 เดือนที่แล้ว

1048 viewer

ก่อนหน้านี้โลกของเราได้อยู่ในสภาวะเป็นกลาง (ENSO-neutral) ของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) แต่ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โลกได้เข้าสู่สภาวะลานีญา (La Niña) อย่างเต็มตัวแล้ว ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงตามมา​

น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในทางตรง น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน เส้นทางคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภค รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ ส่วนในทางอ้อม ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความปลอดภัยต่อชีวิต และสุขภาพจิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ​

แต่ละประเทศทั่วโลกก็มีวิธีในการรับมือน้ำท่วมที่แตกต่างกัน งั้นวันนี้เราลองมาดูกันว่า ในต่างประเทศเค้ามีวิธีจัดการและรับมือกันอย่างไร?​

ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเมืองทั่วโลกล้วนมีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ Geo-informatics มาใช้สนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ในการลดผลกระทบและบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วม อย่าง "ประเทศสหรัฐอเมริกา" ภายใต้ Federal Emergency Management Agency (FEMA) มีการจัดทำ FEMA Flood Map Service Center แหล่งข้อมูลเชิงพื้นที่ที่แสดงแผนที่น้ำท่วม แผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วม และแผนที่แสดงอัตราการประกันภัยน้ำท่วม สนับสนุน National Flood Insurance Program (NFIP) เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ดำเนินการบรรเทาผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ​

ขยับมาที่ประเทศใกล้บ้านเราหน่อย "ประเทศสิงคโปร์" ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ได้มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำท่วม อย่างเช่น ระบบตรวจวัดระดับน้ำผ่านเซนเซอร์และกล้อง CCTV แสดงผลบนแผนที่แบบ Real-time ที่จะมีการแจ้งเตือนเมื่อน้ำขึ้นสูงถึงระดับความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม และระบบตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและการคาดการณ์ที่ใช้ในการแจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้าจากการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนด้วยเรดาร์​

คราวนี้มาดูที่บ้านเรากันบ้าง "กรุงเทพมหานคร" มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การใช้ข้อมูลจากเรดาร์ตรวจอากาศ ที่จะแสดงภาพการเคลื่อนที่และปริมาณความรุนแรงของกลุ่มฝน โดยการสำรวจระยะไกลผ่านการส่งคลื่นวิทยุออกไปกระทบกับเม็ดฝน ทำให้ช่วยวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถติดตามสถานการณ์การเคลื่อนที่ของกลุ่มฝนได้ จากเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร https://weather.bangkok.go.th/radar/

กรุงเทพมหานคร ยังได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (Bangkok Risk Map) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยของกรุงเทพมหานคร ที่เราสามารถเข้าไปดูพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่น้ำท่วมในอดีตได้จากเว็บไซต์นี้ https://cpudapp.bangkok.go.th/riskbkk/index.html​

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ก็ได้ทำการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ภัยพิบัติ ระบบให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านน้ำท่วม รวมถึงไฟป่าและภัยแล้ง โดยจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมสถานการณ์ล่าสุดของประเทศไทย เพื่อช่วยคาดการณ์ความรุนแรงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งเราทุกคนก็สามารถติดตามสถานการณ์ได้เช่นกัน ผ่านทางเว็บไซต์ https://disaster.gistda.or.th/#4.87/13.16/101.49​

ช่วงนี้ฝนก็เริ่มตกหนักและถี่ขึ้นทุกวัน หากสนใจหรืออยากวางแผนรับมือน้ำท่วมด้วยตัวเองลองเข้าไปดูข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์สาธารณะเหล่านี้ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์ในการวางแผนและช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากน้ำท่วมได้ไม่มากก็น้อย​

เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
https://msc.fema.gov/portal/home​
https://www.pub.gov.sg/Public/KeyInitiatives/Flood-Management​
https://pr-bangkok.com/?p=258971​
https://weather.bangkok.go.th/radar/​
https://disaster.gistda.or.th/#4.87/13.16/101.49​
https://gistda.or.th/news_view.php?n_id=2883&lang=TH​

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน