"รั้วต้นไม้" เป็นมากกว่ารั้ว
เขียนบทความโดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 5 เดือนที่แล้ว
เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยเจอปัญหาถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวในพื้นที่บ้าน ทั้งเสียงรบกวน หรือการที่มีบุคคลภายนอกมองเข้ามา หากจะก่อรั้วสูง ก็ต้องใช้เงินหลายบาท แถมได้ทิวทัศน์รอบๆ บ้านเป็นวิวกำแพงอิฐอีก...แล้วแบบนี้ เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?
ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยนวัตกรรมที่ใกล้ตัวเรามากๆ ใช้งบน้อย ราคาไม่แพง แถมพร้อมมาด้วยความร่มรื่น นั่นก็คือ “รั้วต้นไม้” นั่นเอง
รั้วต้นไม้ เรียกได้ว่าหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่จะช่วยให้บ้านของเราน่าอยู่มากขึ้น จากงานวิจัยพบว่า การปลูกต้นไม้จะให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านกายภาพ ทัศนียภาพ จิตใจ และเศรษฐกิจ ซึ่งการปลูกต้นไม้ริมรั้วจะช่วยปรับภูมิทัศน์ ทั้งจากคนภายนอกที่มองเข้ามาและจากตัวผู้อยู่อาศัยมองออกไป ต้นไม้จะช่วยพลางสายตา ปกปิดสถานที่ที่ไม่น่าดู ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี โดยต้นไม้ที่มีใบเยอะ ใบหนา ปลูกเป็นแนวกว้าง 15-30 เมตร มีความสูงที่เหมาะสมกับแหล่งกำเนิดเสียง จะสามารถดูดซับเสียงได้มากถึง 5-10 dB อีกทั้งสีสันจากต้นไม้ยังช่วยให้มีชีวิตชีวาแก่คนที่ได้พบเห็นอีกด้วย
สำหรับการเลือกต้นไม้ที่จะใช้ปลูกเป็นรั้วหรือปลูกริมรั้วบ้านนั้น ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มแน่น ใบถี่ และดูแลง่าย โดยจะสามารถแบ่งพรรณไม้ออกเป็น 4 ระดับ คือ...
- ไม้ปิดกั้นและกรอง เป็นพรรณไม้ที่จะนำมาใช้ในการปิดกั้นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ หรือใช้ทำเป็นรั้ว อย่างเช่น ช้างน้าว ตะขบป่า นมแมว โปร่งกิ่ว โมก สีฟันคนทา แก้วแคระ ข่อย ซาฮกเกี้ยน ไทร กาหลง เกล็ดปลาหมอ โคลงเคลง น้ำใจใคร่ ไผ่เพ็ก พลองแก้มอ้น พลองเหมือด พุดทุ่ง พุดน้ำ สนกระ และสนหอม
- ไม้ระดับล่างหรือคลุมดิน ใช้ปลูกเป็นฉากหน้า ทำให้เกิดพื้นที่โล่งด้านบนและเปิดมุมมอง อย่างเช่น กระทือป่า กระเทียมช้าง ข่าลิงขาว เข็มป่า ทองพันดุล และเท้ายายม่อม
- ไม้ประดับแปลงหรือไม้ปลูกเป็นกลุ่มก้อน ใช้เพื่อประดับบ้านเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ดอกหรือไม้ขนาดเล็ก อย่างเช่น กระเจียว ปีกนกแอ่น ว่านจูงนาง สังกรณี สาบแร้งสาบกา และเอื้องหมายนา
- ไม้สร้างจุดเด่น เป็นพรรณไม้ที่มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างเช่น เกล็ดปลาหมอ โคลงเคลง โปร่งกิ่ว ผักปราบนา พุดน้ำ เม่าสร้อย หางหมาจอก และหูลิง
ใครที่สนใจการทำรั้วต้นไม้ ก็ลองเลือกพันธุ์ไม้เหล่านี้ไปลองปลูกดู หลังจากนี้หลายๆ คนคงจะมีรั้วบ้านสวยๆ พร้อมกับการได้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
เนื้อหาโดย คุณ พัชรินทร์ พุ่มแจ้ นักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
กฤษดา ประเสริฐสิทธิ์. ม.ป.ป. ป่าไม้ในเขตเมืองในมุมมองของภูมิสถาปัตย์. แหล่งที่มา: http://forprod.forest.go.th/forprod/techtransfer/document/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%81%E0%B8%A3/%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C.pdf
นิรนาม. ม.ป.ป. ประโยชน์ของต้นไม้. แหล่งที่มา: http://old-book.ru.ac.th/e-book/a/AT459/at459-1.pdf
เมดไทย. 2563. สมุนไพร. แหล่งที่มา: https://medthai.com/
ศักย์ศรณ์ จันทรบุศย์. 2564. การศึกษาประสิทธิภาพการซับเสียงจากต้นไม้เพื่อลดมลภาวะทางเสียงภายในอาคาร แหล่งที่มา: http://dspace.bu.ac.th/bitstream/123456789/4903/1/Saksorn_Chan.pdf
ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง. 2565. ปลูกต้นไม้ให้เป็นรั้ว. แหล่งที่มา: https://readthecloud.co/best-plants-for-fence-line/
สมชญา ศรีธรรม และ วสา วงศ์สุขแสวง. 2563. การศึกษาพรรณไม้ท้องถิ่นเพื่อใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรมกรณศึกษา: ไม้พุ่มและไม้คลุมดินในป่าจังหวัดสุรินทร์. วารสารวิชาการ ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 11(1): 163-179.
Tanaka, K., Ikeda, S., Kimura, R. & Simazawa, K. (1979). The function of forests in soundproofing. Bulletin Tottori University Foresta, 11, 77–102.
Cook, D.I. and Van Haverbeke, D.F. (1972). Tree, shrub and landforms for noise control. Journal of soil and water conservation 27, 259-261.