Knowledge - RISC

รู้หรือไม่ “หินธรรมชาติ” อันตรายกว่าที่คิด

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

2477 viewer

เมื่อพูดถึงวัสดุที่ใช้ตกแต่งบ้านในยุคนี้ นอกจากกระเบื้องและไม้แล้ว หินธรรมชาติก็นับเป็นอีกวัสดุที่นิยมนำมาใช้เป็นวัสดุตกแต่งภายในอาคาร ทั้งพื้น ผนัง และยังรวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยเฉพาะบ้านที่ชอบความหรูหราสวยงาม​

แต่ในความสวยงามนั้น กลับมีบางสิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ ที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยรู้มาก่อน นั่นก็คือ ภัยเงียบจากแก๊สเรดอน ที่ปนเปื้อนมากับหินธรรมชาติที่เรานำมาใช้ตกแต่งบ้าน​

“แก๊สเรดอน” คือ อะไร? แล้วอันตรายอย่างไร?​

ในปี ค.ศ. 2009 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ระบุไว้ว่า การสูดดมเรดอนในปริมาณสูงและเป็นระยะเวลานานจากภายในที่อยู่อาศัย เป็นสาเหตุหลักของการป่วยเป็นมะเร็งรองจากการสูบบุหรี่ และยังเป็นสาเหตุหลักของการป่วยเป็นมะเร็งปอดอันดับหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดให้กับคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วมากขึ้นไปอีกถึง 10 เท่า​

แก๊สเรดอน (Radon: Rn-222) เป็นสารกัมมันตรังสีที่ปราศจากสี ปราศจากกลิ่น สลายตัวต่อจากเรเดียม (Radium: Ra-226) ที่พบมากในเปลือกโลก ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิประเทศว่ามีปริมาณเรเดียมและยูเรเนียมในบริเวณนั้นมากน้อยแค่ไหน จึงทำให้แต่ละประเทศมีปริมาณเรดอนพื้นหลัง (Background) แตกต่างกัน โดยในประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาถูกให้ความสำคัญมาก เพราะมีปริมาณเรดอนพื้นหลังค่อนข้างสูง​

สำหรับแหล่งกำเนิดของเรดอนในที่อยู่อาศัยของเรา หลักๆ ก็มาจากพื้นดินและอากาศรอบๆ ที่อยู่อาศัย การใช้น้ำบาดาลและน้ำประปา รวมทั้งวัสดุก่อสร้างที่มาจากหิน ดิน ทราย จึงทำให้หลายหน่วยงานในต่างประเทศ ได้ให้ข้อเสนอแนะและกำหนดค่ามาตรฐานของปริมาณเรดอนภายในอาคาร เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นค่าอ้างอิงความปลอดภัย อย่างเช่น สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency-US EPA) ประกาศค่าอ้างอิงของเรดอนภายในอาคารควรมีค่าไม่เกิน 148 Bq/m³

ส่วนในบ้านเรา ข้อมูลจากรายงานธรณีวิทยาของศักยภาพเรดอน โดยสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี พบว่าค่าศักยภาพเรดอนสูงส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณพื้นที่รองรับด้วยหินแกรนิต และพื้นที่ที่มีการสะสมตัวของตะกอนจากหินแกรนิต เช่น บริเวณจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี เป็นต้น ดังนั้นที่อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้จึงควรออกแบบให้มีการระบายอากาศอย่างดี เพื่อลดการสะสมของแก๊สเรดอนในอาคาร แต่ด้วยความนิยมใช้หินธรรมชาติมาตกแต่งบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเรดอนสูง แต่การนำวัสดุธรรมชาติมาใช้งานตกแต่งภายในก็สามารถเพิ่มการสะสมของแก๊สเรดอนได้ หากแหล่งที่มาของหินเหล่านั้นอยู่ในบริเวณที่เป็นแหล่งของแร่ยูเรเนียม รังสีเรดอนก็จะถูกปลดปล่อยออกมาสะสมในอาคารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากมีการระบายอากาศที่ไม่ดีพอ ​

สำหรับวิธีการที่ทำให้ที่อยู่อาศัยปลอดภัยจากเรดอน คือ​
• ช่วงการออกแบบอาคารให้มีการระบายอากาศที่ดีและเพียงพอ​
• ช่วงการอยู่อาศัยภายในบ้านหรืออาคาร หมั่นเปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้ลมถ่ายเทอากาศเป็นประจำ​
• หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุตกแต่งที่เป็นหินธรรมชาติ หากไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจน​
• หากต้องการใช้วัสดุตกแต่งที่เป็นหินธรรมชาติ ควรส่งตรวจวัดอัตราการปล่อยเรดอนของวัสดุได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  ​

เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
Kusky, T. M. (2003). Geological hazards: A sourcebook. Westport, Conn: Greenwood Press. ​
Li, X., Li, W., Shan, H.  & Wang, F. (2020). Radon survey in office room and effective dose estimation for staff. Journal of Radioanalytical and Nuclear Chemistry,324, 561–568. doi: 10.1007/s10967-020-07082-z ​
World Health Organization. (2009). Handbook on Indoor Radon: A Public Health Perspective. Retrieved from http:apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/44149/9789241547673_eng.pdf;        Jsessionid=555C58F91C7B5FA33B37BDE432A2CED?sequence=​

แนะนำสำหรับคุณ

พรมที่่ต้องการทิ้ง ชุบชีวิตมาใช้ใหม่กันเถอะ
Materials & Resources

พรมที่่ต้องการทิ้ง ชุบชีวิตมาใช้ใหม่กันเถอะ

"Low Carbon Materials" ทางเลือกเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
Materials & Resources

"Low Carbon Materials" ทางเลือกเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เลือกไม้อย่างไร? ให้ไม่ขึ้นรา
Materials & Resources

เลือกไม้อย่างไร? ให้ไม่ขึ้นรา

หน้าฝนไม่ลื่นไม่ไถล วัสดุพื้นแบบไหนที่ช่วยกันลื่นได้?
Materials & Resources

หน้าฝนไม่ลื่นไม่ไถล วัสดุพื้นแบบไหนที่ช่วยกันลื่นได้?

นวัตกรรมการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
Materials & Resources

นวัตกรรมการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

เลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนถึง Well-being?
Materials & Resources

เลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนถึง Well-being?

ฤดูร้อนนี้ไม่ต้องยืนมองฟ้า แค่หา "ฉนวนกันความร้อน" มาใช้
Materials & Resources

ฤดูร้อนนี้ไม่ต้องยืนมองฟ้า แค่หา "ฉนวนกันความร้อน" มาใช้

ส่อง 5 เทรนด์วัสดุรักษ์โลก 2024
Materials & Resources

ส่อง 5 เทรนด์วัสดุรักษ์โลก 2024

ส่งท้ายปีนี้ ด้วยการมอบของขวัญแนวรักษ์โลก
Materials & Resources

ส่งท้ายปีนี้ ด้วยการมอบของขวัญแนวรักษ์โลก

SAND CRISIS วิกฤติทรายกำลังจะหมดโลก
Materials & Resources

SAND CRISIS วิกฤติทรายกำลังจะหมดโลก

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน