Knowledge - RISC

หน้าฝนไม่ลื่นไม่ไถล วัสดุพื้นแบบไหนที่ช่วยกันลื่นได้?

เขียนบทความโดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 สัปดาห์ที่แล้ว

91 viewer

“ฝนตก ถนนลื่น โปรดลดความเร็ว ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง” เรามักเห็นข้อความเตือนแบบนี้อยู่เป็นประจำในช่วงที่มีฝนตก แต่...อุบัติเหตุขณะฝนตก ไม่ได้เกิดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนเพียงเท่านั้น คนเดินเท้าก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้บ่อยเช่นกัน และอาจจะต้องเพิ่มเติมข้อความเตือน “ฝนตก ทางเดินเท้าลื่น โปรดย่างก้าวด้วยความระมัดระวัง” เหมือนกับเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะ​

เชื่อว่าหลายคนอาจเคยลื่นล้มจากการเดินบนพื้นเปียกน้ำ หรือพื้นที่มีน้ำขัง จนบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงวัยอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากรายงานสถานการณ์การพลัดตกหกล้มในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในทุกปีจะมีผู้สูงวัย (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) มากกว่า 1 ใน 3 หกล้ม และได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยนอกมากกว่า 180,000 รายต่อปี และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบ 90,000 รายต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของอัตราผู้ป่วยใน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คนต่อปีอีกด้วย​

สาเหตุหลักของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัย เกิดจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 61.97 จากประวัติผู้สูงวัยที่เข้ารับการตรวจรักษาในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 20,741 ครั้ง จากตัวเลขเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า ความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียอันประเมินค่าไม่ได้ และการป้องกันปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม​

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการพลัดตกหกล้มเกิดขึ้นได้ทั้งทางด้าน...​
• ชีววิทยา เช่น โรคทางระบบประสาท ความเสื่อมสภาพของร่างกาย การทรงตัว การมองเห็น ฯลฯ​
• พฤติกรรม เช่น การใช้ยาบางประเภท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองเท้าไม่มีดอกยาง การเปลี่ยนอริยาบถอย่างรวดเร็ว ฯลฯ​
• เศรษฐกิจและสังคม เช่น การอยู่ตามลำพัง ไม่มีงบประมาณปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบ้าน ฯลฯ​
• สิ่งแวดล้อม เช่น พื้นลื่น ไม่เรียบ มีทางต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ สิ่งของกีดขวางทางเดิน ไม่มีราวจับ ฯลฯ​

ด้วยปัจจัยทางด้านสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักที่ต้องใส่ใจ แต่เรื่องนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย​

​แล้วเราจะควบคุมอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มได้อย่างไร?​

เรื่องพื้นฐานที่สามารถควบคุมได้ และควรกระทำโดยทันที คือการจัดสรรสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยให้เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้มสำหรับทุกคน ด้วยการเลือกวัสดุช่วยกันลื่นให้เหมาะกับพื้นที่ใช้งาน​

บริเวณที่ผิวพื้นต้องไม่ลื่น จะต้องเลือกวัสดุพื้นที่มีค่ากันลื่น (รู้จักค่า R มากขึ้นอ่านต่อที่ https://risc.in.th/th/knowledge/slippery-problems-lets-get-to-know-r-rating-in-flooring-material) มากขึ้นตามระดับความเสี่ยงของกิจกรรมการใช้งานพื้นที่นั้นๆ (Room Function) ที่พื้นมีโอกาสเปียกจากน้ำ น้ำฝน หรือน้ำมันได้ เช่น​
• พื้นที่ใช้งานทั่วไปภายในบ้าน ได้แก่ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ทางเดิน เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R9​
• พื้นห้องน้ำส่วนแห้ง ได้แก่ ห้องส้วม อ่างล้างหน้า เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R10​
• พื้นห้องน้ำส่วนเปียก ได้แก่ ห้องอาบน้ำ อ่างอาบน้ำ เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​
• พื้นห้องเตรียมอาหาร เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R10​
• พื้นห้องครัว เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​
• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้าน ได้แก่ ทางเดิน ที่จอดรถ เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​
• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้านที่มีความลาดชันสูง เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R12​

วัสดุปูพื้นที่ได้มาตรฐานควรมีผลทดสอบค่ากันลื่นจากทางผู้ผลิต แต่หากไม่มีค่ากันลื่น แนะนำให้สังเกตและพิจารณาเลือกใช้วัสดุ ดังนี้​
• วัสดุที่มีค่าแรงเสียดทานสูง เช่น ยาง ไวนิล มีการยึดเกาะพื้นผิวที่ดี มักจะมีค่าการกันลื่นสูง​
• การเพิ่มคุณสมบัติการกันลื่นของวัสดุ สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การทำผิวหยาบขรุขระ การเซาะร่องวัสดุ การเพิ่มร่องยาแนว หรือการทำโมเสก​

รูปที่ 1 ตัวอย่างการทำผิวหยาบขรุขระ​

 


รูปที่ 2 ตัวอย่างการเซาะร่องวัสดุ​


รูปที่ 3 ตัวอย่างการเพิ่มร่องยาแนว​



รูปที่ 4 ตัวอย่างการทำโมเสก​​


หากวัสดุเดิมที่ใช้งานอยู่มีความลื่นมาก และไม่สามารถเปลี่ยนวัสดุได้ อาจเลือกติดตั้งแผ่นยางกันลื่น เทปกันลื่น หรือน้ำยาเคลือบผิวกันลื่น ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ​

สำหรับผิวพื้นที่ไม่เปียกน้ำ ก็ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเหมือนกัน อย่างวัสดุพื้นคอนกรีต หิน กระเบื้อง เมื่อโดนน้ำค่ากันลื่นมักจะลดลงเมื่อเทียบกับตอนที่ผิววัสดุแห้ง แนะนำดังนี้​
• พื้นที่ใช้งานภายในบ้าน หมั่นทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ และระมัดระวังการใช้งานในระหว่างที่พื้นเปียกจากน้ำ หรือน้ำยาทำความสะอาด​
• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้าน ควรมีหลังคาคลุมกันฝน ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง และหลีกเลี่ยงการใช้งานในขณะที่ฝนตก หรือหลังฝนตก​

ในส่วนของการทำความสะอาด วัสดุที่มีค่ากันลื่นสูงมักจะมีผิวสัมผัสขรุขระ จึงควรเลือกรูปแบบผิวที่ยังสามารถทำความสะอาดได้ดี และเนื้อวัสดุมีความพรุนน้อย ลดการกักเก็บสิ่งสกปรกต่างๆ เนื่องจากคราบสกปรก ฝุ่น ตะไตร่น้ำ ที่เกาะบนผิวพื้น เมื่อโดนน้ำจะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ด้วยเช่นกัน​

"การเลือกสีสันหรือลวดลายของพื้น" ควรเลือกที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นพื้นเรียบหรือพื้นต่างระดับ ไม่มุ่งเน้นเพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ควรต้องคำนึงถึงคุณภาพการมองเห็น เพื่อลดอุบัติเหตุจากการล้ม หรือสะดุดเนื่องจากก้าวพลาดได้ เช่น หลีกเลี่ยงการเลือกใช้สีและลวดลายที่เหมือนกันบริเวณบันได ทำให้แยกไม่ออกว่าเป็นพื้นต่างระดับ หรือการเลือกใช้สีและลวดลายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เป็นเส้นขอบตกแต่งพื้น จนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพื้นต่างระดับ​



รูปที่ 5 ตัวอย่างการเลือกใช้สีสันและลวดลายที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ


นอกจากการเลือกวัสดุพื้นแล้ว "การจัดเตรียมแสงสว่างที่เพียงพอ" ที่สามารถมองเห็นเส้นทางเดินและรายละเอียดโดยรอบได้อย่างชัดเจน การจัดเก็บสิ่งของเป็นระเบียบไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดิน และการติดตั้งราวจับช่วยพยุงตัวในจุดที่มีการเปลี่ยนระดับ ทางลาด หรือตลอดแนวทางเดิน ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางการป้องกันที่ต้นเหตุด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้​

เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
รายงานประจำปี พ.ศ. 2566 กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th/dip/journal_detail.php?publish=15746)​
WHO global report on falls prevention in older age (https://www.who.int/publications/i/item/9789241563536)​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน