Knowledge - RISC

อย่า “ชินชา” กับฝุ่น PM2.5 ภัยเงียบที่ต้องระวัง

เขียนบทความโดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 สัปดาห์ที่แล้ว

147 viewer

หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึก “ชินชา” กับการแจ้งเตือนเรื่องค่าฝุ่น เพราะมันเกิดขึ้นซ้ำๆ จนกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคย ทั้งที่ในความเป็นจริง PM2.5 ยังคงแฝงภัยร้ายแรงไว้ในทุกลมหายใจ​

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งแบบนี้ ค่าฝุ่นมักเกินมาตรฐานรายวัน หรือบางพื้นที่ก็ยังเกินค่ารายปีอีกด้วย แม้ว่าต้นปีนี้ ระดับ PM2.5 โดยรวมทั่วประเทศจะอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีหลังสุด แต่...ในหลายจังหวัดยังมีวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งหมายความว่า สุขภาพของประชาชนก็ยังคงมีความเสี่ยง และไม่ควรมองข้าม​

MEI เปรียบเทียบกับค่า PM2.5 ของแต่ละภูมิภาค

Multivariate ENSO Index Version 2 (MEI V.2) เป็นดัชนีปรากฎการณ์ ENSO หลายตัวแปร ซึ่งได้มีการ รวมตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและบรรยากาศมาใช้ใน การประเมินดัชนี ENSO ได้แก่ Sea level pressure (SLP), Sea surface temperature (SST), Surface zonal winds (U), Surface meridional winds (V) แ ล ะ Outgoing longwave radiation (OLR) ใช้เพื่อประเมินปรากฏการณ์เอลนีโญ (ค่า MEI เกิน 0) และลานีญา (ค่า MEI ต่ำกว่า 0)

ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจาก PM2.5 นั้นไม่ได้เกิดทันที แต่จะค่อยๆ สะสม จนกระทั่งแสดงออกมาในรูปแบบของโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนใน กทม. หรือบางครั้งในจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย และพะเยา ที่มีระดับ PM2.5 รุนแรง อาจจะแสดงอาการเฉียบพลันในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง โรคตาอักเสบ​

สาเหตุที่ค่าฝุ่น PM2.5 แปรผันในแต่ละปีเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ สภาพอุตุนิยมวิทยา และปริมาณการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด​

ในแง่ของอุตุนิยมวิทยา ลมนั้นมีบทบาทสำคัญ ทั้งทิศทางและความเร็ว หากลมพัดแรงก็ช่วยเจือจางมลพิษได้ดี ในขณะที่ความสูงของชั้นบรรยากาศที่มลพิษสามารถแทรกตัวขึ้นไปได้ หรือที่เรียกว่า “ชั้นผสม” ก็มีผลโดยตรงต่อระดับของฝุ่น หากชั้นนี้ต่ำ มลพิษจะสะสมใกล้พื้นดินและค่าฝุ่นจะสูงขึ้น​

อีกหนึ่งตัวแปร คือ ฝนและความชื้น ซึ่งมีบทบาทในการพาฝุ่นละอองตกลงสู่พื้นดิน ความชื้นสูง หรือฝนที่ตกหนักเพียงพอสามารถลด PM2.5 ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังลดโอกาสของการเกิดไฟไหม้ในที่โล่งที่เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่นในหลายภาคของประเทศ​

เมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ ปัญหา PM2.5 ยังเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ระดับโลก อย่างเอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) ที่มีผลต่อรูปแบบฝนในประเทศไทย หากฝนตกมากจากลานีญา การเผาในที่โล่งก็จะลดลง แต่ถ้าแล้งจัดเพราะเอลนีโญ การเผาก็จะเพิ่มขึ้นทันที สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นนั้นเชื่อมโยงกับทั้งภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และกิจกรรมของมนุษย์ ​

สำหรับในแต่ละภูมิภาคของไทย สาเหตุของฝุ่นก็แตกต่างกัน กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกมีแหล่งกำเนิดหลักจากการจราจร โรงงาน และโรงไฟฟ้า โดย PM2.5 จะสูงในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอุตุนิยมวิทยาสะสมมลพิษอากาศ และฤดูร้อนจะได้รับผลจากแหล่งกำเนิดการเผาในที่โล่งจากพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเสริมให้ระดับความเข้มข้นของฝุ่นรุนแรงมากยิ่งขึ้น​

​ขณะที่ภาคเหนือ และอีสานจะได้รับผลกระทบจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่เกษตรและป่า โดยเฉพาะในภาคเหนือที่ค่าฝุ่นสามารถสูงเกินค่ามาตรฐานได้ถึงสิบเท่าในช่วงฤดูร้อน สอดคล้องกับจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตร และยังได้รับอิทธิพลจากหมอกควันข้ามแดนที่ลอยข้ามประเทศมาอีกด้วย​

ส่วนภาคใต้แม้จะมีระดับฝุ่นต่ำกว่าภาคอื่น เนื่องจากมีฤดูฝนยาวนาน และความชื้นสูง แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอ ในช่วงปลายปี ภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนเช่นกัน โดยเฉพาะจากการเผาในประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งฝุ่นสามารถเดินทางไกลข้ามทะเลได้นับพันกิโลเมตร​

การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ได้ผลมากที่สุด คือ การแก้ที่ต้นเหตุ แต่เป็นแนวทางระยะยาวที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอใคร ก็คือ การป้องกันตัวเอง ซึ่งเป็นด่านแรกในการลดผลกระทบจากฝุ่น​

หลักการง่ายๆ ที่ควรจำไว้เสมอคือ "ลดการสัมผัสฝุ่นให้ได้มากที่สุด", ติดตามค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน, ใช้หน้ากาก N95 เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง, หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง, ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรืออยู่ในพื้นที่ที่ปลอดฝุ่น​

หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจในการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น แม้ว่าการป้องกันตนเองจะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่ก็เป็นวิธีที่ได้ผลทันที และช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของเราและคนที่เรารัก​

PM2.5 เป็นภัยเงียบที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่ซึมลึกอยู่ในลมหายใจของเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากเราเพิกเฉย หรือ “ชินชา” มันอาจกลายเป็นภัยที่สายเกินแก้​

เนื้อหาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง ผู้ช่วยคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และคุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส แล Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISC​

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน