อากาศเย็นสบายอยู่ดีๆ ทำไมอยู่ๆ ฝุ่นพิษพุ่งสูง?
เขียนบทความโดย RISC | 3 สัปดาห์ที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 3 สัปดาห์ที่แล้ว
รู้หรือไม่? อากาศเย็นสบายอยู่ดีๆ ทำไมฝุ่นพิษพุ่งสูง?
ช่วงนี้บ้านเรา โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังเจอปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง แม้ในบางช่วงอากาศจะดีขึ้น แต่ไม่นานค่าฝุ่นกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
แล้วฝุ่นพวกนี้มาจากไหน?
- การเผาในที่โล่ง (Open Burning): เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเผาไร่ข้าวโพด การเกษตร หรือขยะ การศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department, PCD) ระบุว่า การเผาในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศเราเอง ทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่อากาศแห้ง อย่างฤดูหนาวของบ้านเรา เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยสูงขึ้น โดยฝุ่นจากกิจกรรมเหล่านี้มักถูกลมพัดเข้ามาสู่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงที่ลมพัดจากเหนือไปใต้ นอกจากนี้ฝุ่นบางส่วนยังมาจากการเผาในที่โล่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี ซึ่งมักมีการเผาขยะ และเศษวัสดุเกษตรเป็นประจำ
- การจราจร (Traffic Emissions): ฝุ่นที่มาจากการจราจรในพื้นที่ กทม.มีสัดส่วนถึง 51% โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่สำคัญที่สุดในเขตเมือง การจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้มลพิษทางอากาศสะสมตัวในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศน้อย เช่น ในย่านใจกลางเมือง
- โรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Activities): ในพื้นที่ปริมณฑล เช่น บางพลี บางปู และลาดกระบัง มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ ผลการศึกษาจาก Asian Institute of Technology (AIT) ระบุว่า พื้นที่อุตสาหกรรมรอบกรุงเทพฯ มีส่วนในการปล่อย PM2.5 คิดเป็น 25-30% ของค่าฝุ่นทั้งหมดในกรุงเทพฯ
- สภาพอากาศและลม (Meteorological Conditions): ปัจจัยทางสภาพอากาศก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว และช่วงที่อากาศนิ่งมักทำให้เกิดชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า "Inversion Layer" ซึ่งเป็นชั้นที่อากาศใกล้พื้นดินเย็นกว่าอากาศด้านบน ส่งผลให้ฝุ่นละอองถูกกักขังอยู่ในระดับพื้นดิน แทนที่จะลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น เป็นปรากฎการณ์ฝาชีครอบพื้นที่เมือง สะสมฝุ่นไว้ด้านใน ไม่สามารถระบายออกไปได้
สถานการณ์ของฝุ่นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบนี้ จึงจำเป็นที่เราต้องรับมือป้องกันอย่างทันท่วงที ด้วยการ...
- ตรวจสอบค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์ โดยใช้แอปพลิเคชัน เช่น AirVisual หรือ Air4Thai เป็นประจำ เพื่อวางแผนการทำกิจกรรมในแต่ละวัน
- สวมใส่หน้ากาก N95 หรือหน้ากากกันฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ เช่น N95 หรือ KN95 หรือหน้ากากผ้า และต้องระวังในการเลือกใช้หน้ากาก เพราะหน้ากากบางประเภทไม่ได้ออกแบบมาเพื่อกันฝุ่น PM2.5
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร ในข่วงที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้งควรเปลี่ยนมาออกกำลังกายในร่มแทน และเมื่ออยู่ในอาคารควรเปิดเครื่องฟอกอากาศ
เนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, ActiveScore AP, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Pollution Control Department. (2023). รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2566 [Thailand State of Pollution Report 2023]. Bangkok: Ministry of Natural Resources and Environment. Retrieved from https://www.pcd.go.th/publication/32171/
Asian Institute of Technology. (2024, January 26). Collaborative efforts for cleaner air in Bangkok and beyond. AIT. Retrieved from https://ait.ac.th/2024/01/collaborative-efforts-for-cleaner-air-in-bangkok-and-beyond/
World Health Organization. (2021). Global air quality guidelines: Particulate matter (PM2.5 and PM10), ozone, nitrogen dioxide, sulfur dioxide, and carbon monoxide. Geneva: World Health Organization. Retrieved from https://www.who.int/publications/i/item/9789240034228