Knowledge - RISC

อิฐทนไฟที่มาจากขยะก้นบุหรี่

เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว

1702 viewer

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ระบุไว้ว่า ในปี 2564 ประชากรไทยอายุตั้งแต่อายุ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่กว่า 9.9 ล้านคน ซึ่งถ้ามองในเรื่องสุขภาพก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่ายังมีมากกว่านั้น​

เรื่องของการสูบบุหรี่ไม่ได้มีเพียงมุมเดียว เพราะทุกครั้งที่มีการสูบบุหรี่จะเกิดขยะที่มาจากการสูบบุหรี่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยเรานั้นมีขยะก้นบุหรี่สูงถึงปีละ 2.5 พันล้านชิ้นเลยทีเดียว ซึ่งขยะก้นบุหรี่จำนวนมหาศาลเหล่านี้ถูกทิ้งอย่างกลาดเกลื่อนในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเท้า ท้องถนนสวนสาธารณะ รวมถึงบริเวณชายหาด ซึ่งส่งผลเสียต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างคาดไม่ถึง และเรามักจะมองข้ามความอันตรายของมันไป เพราะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้จนชินตา​

แต่เรารู้หรือไม่ว่า ขยะก้นบุหรี่เหล่านี้ประกอบไปด้วยสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งมากมาย อย่างเช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อขยะก้นบุหรี่ตกค้างในแหล่งน้ำ ก็จะทำให้น้ำสะอาดเป็นพิษ ส่งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ และสัตว์น้ำต่างๆ เมื่อตกค้างในดิน ก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และผลเสียต่อสัตว์หน้าดิน รวมถึงผู้ล่าตามห่วงโซ่อาหาร และยังรวมถึงตัวมนุษย์เองด้วย สารพิษเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคน้ำดื่ม เนื้อสัตว์ หรือพืชผักต่างๆ ที่ปนเปื้อนได้ นอกจากนี้ เซลลูโลสอะซิเตต ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการผลิตบุหรี่ แม้ว่าจะเป็นพลาสติกที่ผลิตได้จากพืช แต่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยสลายยาวนานเกือบ 10 ปี ทำให้เป็นขยะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม​

ที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศมีความพยายามอย่างมากที่จะจัดการกับปัญหาขยะจากก้นบุหรี่ โดยต้องกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม​

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT ประเทศออสเตรเลีย ได้ศึกษาการนำขยะก้นบุหรี่ไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอิฐทนไฟ พบว่าการเติมขยะก้นบุหรี่ลงไป 1% โดยน้ำหนัก ทำให้อิฐทนไฟที่ได้มีความแข็งแรงเทียบเท่าอิฐทั่วไป แต่มีน้ำหนักเบาลง ค่าการนำความร้อนลดลง ทำให้ใช้งานเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี ช่วยลดการใช้พลังงานภายในอาคารได้ และลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต เนื่องจากเซลลูโลสอะซิเตตจากขยะก้นบุหรี่ มีค่าความร้อนสูงกว่าดินเหนียว ทำให้ใช้พลังงานในการเผาอิฐน้อยลง นอกจากนี้ ยังไม่ต้องกังวลถึงสารเคมีอันตรายในก้นบุหรี่ที่จะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเมื่ออิฐทนไฟเกิดการเผาไหม้ สารเคมีเหล่านั้นจะถูกกักขังอยู่ในโครงสร้างของอิฐที่มีรูพรุน ไม่หลุดออกสู่ภายนอก ซึ่งงานวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการผลิตอิฐทนไฟจากขยะก้นบุหรี่เพียงแค่ 2.5% ของอิฐทนไฟทั่วไป จะสามารถกำจัดขยะก้นบุหรี่ที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละปีได้​

จริงอยู่ที่มีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยลดปัญหาขยะก้นบุหรี่ แต่การทิ้งก้นบุหรี่ก็ควรทิ้งในที่ที่ถูกจัดวางไว้ให้ ไม่ควรทิ้งในพื้นที่สิ่งแวดล้อม เพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นตัวมนุษย์เองที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้​

เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material

อ้างอิงข้อมูลจาก​
https://phys.org/news/2020-09-cigarette-butts-recycled-bricks-step-by-step.html​
Mohajerani, A.; Qun Hui, S.; Shen, C.; Suntovski, J.; Rodwell, G.; Kurmus, H.; Hana, M.; Rahman, M.T. Implementation of Recycling Cigarette Butts in Lightweight Bricks and a Proposal for Ending the Littering of Cigarette Butts in Our Cities. Materials 2020, 13, 4023. https://doi.org/10.3390/ma13184023​
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=22385&deptcode=brc&news_views=1559​
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/173199

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน