เข้าหน้าฝนแล้ว...อากาศเย็นสบายจริงหรือ
เขียนบทความโดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 5 เดือนที่แล้ว
“ช่วงนี้อากาศดีไหม?”...คำถามนี้เราคงได้ยินบ่อย แต่เราจะวัดจากอะไร หากยึดจากความรู้สึกสบาย?
ก่อนอื่นเลยเรามารื้อฟื้น สภาวะน่าสบาย หรือ Thermal Comfort กันก่อน
สภาวะน่าสบาย หรือ Thermal Comfort ก็คือ สภาวะของจิตใจที่แสดงความพึงพอใจต่อสภาพแวดล้อม หรือเป็นสภาวะที่เกิดสมดุลทางอุณหภูมิหรือสมดุลระหว่างความร้อนของร่างกายกับสภาพแวดล้อม โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสองด้าน ได้แก่ 1) ปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อม และ 2) ปัจจัยด้านบุคคล ซึ่งการออกแบบสภาพแวดล้อมจึงต้องคำนึงถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ใช้งานอยู่ในช่วง Comfort Zone ที่ไม่ใช่ในแง่มุมของจิตใจ แต่เป็นความสบายทางร่างกายที่ผู้ใช้งานไม่รู้สึกร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไปนั่นเอง
ที่นี้เรามาดูกันว่าปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อมที่ต้องนำมาพิจารณาสภาวะน่าสบายมีอะไรบ้าง?
"ปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อม" ที่ต้องนำมาพิจารณาสภาวะน่าสบายจะประกอบด้วย 4 ประเด็น
1. อุณหภูมิอากาศ (Air Temperature)
2. ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ (Relative Humidity)
3. ความเร็วลม (Air Velocity)
4. อุณหภูมิการแผ่รังสีความร้อนเฉลี่ยจากพื้นผิวโดยรอบ (Mean Radiant Temperature, MRT)
ในช่วงฤดูฝนที่อุณหภูมิอากาศลดลง เราอาจจะยังไม่รู้สึกสบาย นั่นเป็นเพราะมีความชื้นในอากาศสูงมาก (อ่านเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3VjQysW) แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกสบายขึ้นได้ถ้ามีลมพัดผ่าน แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่โดยรอบตัวเราด้วย อย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในสวนที่เป็นสนามหญ้า อยู่ท่ามกลางต้นไม้และพุ่มไม้โดยรอบ ในบริเวณนี้จะมีค่า MRT ต่ำ เรามักจะรู้สึกเย็นสบายกว่าการอยู่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นคอนกรีตโดยรอบ เพราะค่า MRT จะสูงกว่า ถึงแม้ว่าในขณะนั้นอุณหภูมิจะเท่ากัน
นอกจากนั้นแล้ว สภาวะน่าสบายประเมินด้วย "ปัจจัยด้านบุคคล" ได้อีกด้วย หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ แต่ละคนรู้สึกหนาวรู้สึกร้อนแตกต่างกันนั่งเอง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ตาม โดยปัจจัยด้านบุคคลที่ต้องนำมาพิจารณาก็มี 2 ประเด็น
1. เสื้อผ้าที่สวมใส่
2. อัตราการเผาผลาญของร่างกาย
สำหรับประเทศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา การสวมเสื้อยืดกางเกงขาสั้นย่อมรู้สึกเย็นสบายมากกว่าการใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว เพราะเสื้อผ้าก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นฉนวนป้องกันการถ่ายเทความร้อนของร่างกายเรากับสภาพแวดล้อม ซึ่งในการประเมินสภาวะน่าสบายจะมีการคำนึงถึงค่าสัมประสิทธิ์การต้านทานความร้อนของเสื้อผ้าหรือ Clo Value ด้วย ส่วนอัตราการเผาผลาญของร่างกาย ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำอยู่ในพื้นที่นั้น โดยร่างกายก็จะผลิตความร้อนออกมาแตกต่างกัน ส่งผลต่อระดับความพึงพอใจหรือความสบายของบุคคลนั้นด้วยเช่นกัน
ในการออกแบบสภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์หรือภายนอกอาคาร จะมีการพูดถึงการประเมินค่า Universal Thermal Climate Index (UTCI) ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อประเมินความสบายและความเครียดทางความร้อนของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยการคำนวณจะใช้ปัจจัยทั้ง 4 ประเด็นทางกายภาพของสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และ MRT แล้วจะทำการแบ่งระดับความเครียดทางอุณหภูมิออกเป็น 10 ระดับ โดยระดับกลางคือ No Thermal Stress จะอยู่ที่อุณหภูมิ 9-26 องศาเซลเซียส
นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาเรื่องสภาวะน่าสบายในสภาพแวดล้อมสำหรับประเทศไทย (อ่านเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3VjQysW) และมีหลายงานวิจัยที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับ Comfort Zone ของคนไทย เนื่องจากคนไทยมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้นนี้แล้ว จึงอาจมีช่วงของสภาวะน่าสบายที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศที่ต่างกัน
เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Stein, B., & Reynolds, J. S. (1992). Mechanical and electrical equipment for buildings. New York: John Wiley & Sons