เลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนถึง Well-being?
เขียนบทความโดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 7 เดือนที่แล้ว
จากบทความก่อน (https://bit.ly/49Perie) หลายคนคงได้เห็นแล้วว่า การติดตั้งฉนวนกันความร้อนสามารถช่วยลดอุณหภูมิอากาศภายในบ้าน รวมไปถึงลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้
มาถึงบทความนี้ เราจะมาดูตำแหน่งการติดตั้งฉนวนกันความร้อนกัน ว่าติดตรงไหนดี ติดตรงไหนเหมาะ? รวมทั้งการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด?
มาเริ่มที่ตำแหน่งที่ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนกันก่อน โดยตำแหน่งที่เหมาะสมจะเป็นตำแหน่งที่ได้รับความร้อนโดยตรง อย่างเช่น ความร้อนจากหลังคาร้อนที่สุด ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนบริเวณใต้หลังคา ฝ้าเพดาน ซึ่งการเลือกควรเลือกใช้ฉนวนที่สามารถสกัดกั้นความร้อนได้ดี มีค่าการสัมประสิทธิ์การนำความร้อน (K-Value) ต่ำๆ รวมทั้งสามารถสะท้อนความร้อนออกไปได้ เช่น ฉนวนกันความร้อนที่ปิดผิวด้วยแผ่นอลูมิเนียมฟอยส์ มีน้ำหนักเบา กันความชื้นได้ดี กันไฟลาม ไม่ยุบตัว และประสิทธิภาพยาวนาน รวมถึงทนต่อการกัดแทะของหนูและแมลงต่างๆ ได้
อีกจุดที่ต้องใส่ใจก็คือ บริเวณรอยต่อหรือช่องว่างของบ้านที่อากาศร้อนภายนอกสามารถไหลเข้ามาภายในบ้านได้ อย่างเช่น ระหว่างผนัง ช่องว่างของประตูหน้าต่าง โดยควรเลือกฉนวนกันความร้อนชนิดที่สามารถกรุในช่วงว่างระหว่างผนังได้ เช่น โฟมเซลล์ปิด เส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ ซึ่งค่าการสัมประสิทธิ์การนำความร้อนและความหนาจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของฉนวนเป็นอย่างมาก ยิ่งหนาก็ยิ่งต้านทานความร้อนได้ดี กันความร้อนได้ดีไปด้วย นอกจากนี้ฉนวนนอกจากจะมีคุณสมบัติการกันความร้อนแล้ว ยังมีคุณสมบัติยังมีในการกันและดูดซับเสียง สามารถกันและลดความดังของเสียง ทะลุผ่านจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งได้ด้วย
สำหรับการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อน ควรเลือกฉนวนที่ผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน (Asbestos) หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตรายอื่นๆ เช่น ตะกั่ว ปรอท หรือแคดเมียม และยังต้องทนต่อความชื้น ไม่เกิดเชื้อรา ปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในระดับต่ำ ซึ่งสังเกตได้จากฉลากที่ระบุคำว่า Low VOCs หรือ Zero VOCs นอกจากนี้ต้องไม่ลามไฟหรือดับไฟได้เอง รวมทั้งไม่ปล่อยสารอันตรายจากการเผาไหม้ และที่สำคัญสุดต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุรีไซเคิล สามารถรีไซเคิลหรือหลังจากหมดอายุการใช้งาน รวมไปถึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material