Knowledge - RISC

เลือกไม้อย่างไร? ให้ไม่ขึ้นรา

เขียนบทความโดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 เดือนที่แล้ว

327 viewer

“อยากใช้ไม้ตกแต่งบ้าน แต่กังวลเรื่องเชื้อรา ทำอย่างไรดี?”​

คำถามนี้ เชื่อว่าคนรักงานไม้คงปวดหัวไม่น้อย เพราะไม้กับเชื้อรามักจะมาคู่กัน โดยเฉพาะอากาศชื้นๆ ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ เนื่องจากไม้ประกอบด้วยเซลลูโลส แป้ง น้ำตาล และลิกนิน ที่สามารถย่อยกลายเป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นอาหารหลักของเชื้อรา แต่หากสภาพแวดล้อมมีองค์ประกอบครบถ้วนเอื้อต่อการเกิดเชื้อรา ถึงแม้ไม่ได้ใช้วัสดุไม้ก็เกิดเชื้อราได้เหมือนกัน​

องค์ประกอบที่ทำให้เกิดเชื้อรา ก็คือ ความชื้น อาหารของเชื้อรา และอุณหภูมิ ซึ่งหากเรากำจัดตัวแปรเหล่านี้ได้ เชื้อราก็จะหมดไป แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา อย่างช่วงฤดูฝนแบบนี้ การควบคุมความชื้นให้ได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดเชื้อราด้วยเช่นกัน เช่น ออกซิเจน แสงสว่าง สภาพความเป็นกรด และชนิดของไม้​

แล้วเชื้อราทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไรบ้าง? มาดูกัน​

อย่างแรก "เชื้อราที่ผิวไม้" เชื้อราแบบนี้จะยังไม่เจริญเติบโตในเนื้อไม้ เส้นใยและสปอร์ของเชื้อราทำให้เห็นเป็นสีต่างๆ พบมากในไม้ชื้น หรือช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง สามารถกำจัดโดยการทำความสะอาดพื้นผิว หรือขัดเนื้อไม้ชั้นนอกออกได้ โดยระมัดระวังไม่ให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ และควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ แว่นตา เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อรา และป้องกันการสูดดมเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้​

ต่อมา "เชื้อราที่ทำให้ไม้เสียสี" กรณีนี้เกิดจากเชื้อราเจริญเติบโตในเนื้อไม้แล้ว อาจแฝงตัวมากับตัวไม้ หรือระหว่างกระบวนการผลิตแปรรูป ทำให้สีเนื้อไม้ผิดปกติไปจากเดิม เป็นจุดๆ หรือเป็นวงกว้าง กระทบต่อความสวยงามของเนื้อไม้ ไม่สามารถกำจัดออกได้ แต่ยังไม่ทำให้ความแข็งแรงของไม้ลดลง​

และสุดท้ายคือ "เชื้อราที่ทำให้ไม้ผุ" เป็นเชื้อราที่เข้าทำลายผิวไม้หรือเนื้อไม้ ทำให้ไม้ผุ ยุ่ย ยุบตัว แตก หักง่าย ไม้ฟอกสี ความหนาแน่นลดลง กระทบต่อความแข็งแรงของเนื้อไม้​

รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างความเสียหายของพื้นไม้จากเชื้อรา​

รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างความเสียหายของประตูไม้จากเชื้อรา​

รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างความเสียหายของตู้เสื้อผ้าจากเชื้อรา​

สำหรับวิธีการเลือกใช้ไม้และการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันก่อนจะเกิดปัญหาเชื้อราในบ้าน ก็สามารถทำได้ตามนี้​

การใช้งานไม้ภายนอกอาคาร จะต้องควบคุมความชื้น พื้นที่ใช้งานจะต้องมีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินโดยตรง และควรเลือกวัสดุมีความทนทาน ใช้ไม้ชนิดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานภายนอกอาคารโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม ทั้งแดด ฝน และความชื้นได้ดีกว่าไม้สำหรับใช้งานภายในอาคาร รวมทั้งควรทำการป้องกันรักษาเนื้อไม้จากเชื้อราและปลวกก่อนนำมาใช้งาน นอกจากนี้ ต้องหมั่นทำความสะอาด คราบสกปรก ตะไคร่น้ำอยู่เป็นประจำ​

ส่วนการใช้งานไม้ภายในอาคาร จะต้องควบคุมความชื้น และต้องไม่อับชื้น หมั่นเปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศ มีแสงสว่างเข้าถึง เปิดพัดลมระบายอากาศ หรือใช้เครื่องลดความชื้น และหมั่นตรวจสอบพื้นที่ไม่มีน้ำรั่วซึมจากหลังคา ผนัง ประตูหน้าต่าง ท่อน้ำ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือความชื้นจากพื้นดิน รวมทั้งหมั่นทำความสะอาด ป้องกันการสะสมของฝุ่นและคราบสกปรก และเช็ดให้แห้งสนิทหลังทำความสะอาดทุกครั้ง​

​นอกจากนี้ เรายังสามารถทราบปริมาณความชื้นของไม้ได้จากการใช้เครื่องมือตรวจวัด หรือขอใบรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ​

สำหรับการเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นอาหารของเชื้อรา ก็สามารถทำได้ตามนี้...​

  • ไม้ที่มีกาวหรือตัวประสานเป็นส่วนผสม เช่น ไม้อัด ไม้ประสาน ไม้ MDF ไม้ Particle จะต้องคำนึงถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง ไม่ควรโดนแดดฝนโดยตรง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ เนื่องจากมีโอกาสเกิดเชื้อราค่อนข้างสูง​
  • ไม้แปรรูป ไม้ที่มีความชื้นในเนื้อไม้สูงมีความเสี่ยงให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ไม้ที่ถูกนำมาแปรรูปหรือใช้งานเป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนทั่วไปควรมีการควบคุมปริมาณความชื้นในเนื้อไม้ (Moisture content) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12% เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความชื้นในเนื้อไม้กับอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ ลดการยืดหดตัวของไม้ และลดการดูดซึมความชื้นจากอากาศ (อ้างอิงค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ทั้งนี้ความชื้นของไม้ที่เหมาะสมจะแปรเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่นั้นๆ โดยเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณความชื้นสมดุลจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่ออุณหภูมิอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณความชื้นสมดุลจะลดลง)​

แผนภูมิที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศกับปริมาณความชื้นสมดุลของเนื้อไม้​

ในส่วนของการควบคุมปริมาณความชื้นของไม้ ด้วยการผึ่ง หรืออบ จะแปรไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตัวอย่างเช่น ไม้ไส้ประตู ความชื้นจะอยู่ที่ 8-12%, ไม้ปูพื้น ไม้ใช้งานภายในอาคารทั่วไป ความชื้นจะอยู่ที่ 12-16% และไม้โครงสร้าง เช่น Glulam ความชื้นจะไม่เกิน 16% นอกจากนี้ ควรทำการป้องกันรักษาเนื้อไม้ก่อนนำมาใช้งาน เช่น การอัดน้ำยา หรือการทาน้ำยาป้องกันเชื้อรา​

นอกจากนี้ "การเลือกใช้วัสดุทดแทนไม้" วัสดุที่สามารถทดแทนคุณสมบัติอื่นๆ ของไม้ที่ต้องการก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยวัสดุเหล่านี้จะมีความต้านทานเชื้อราได้ดีกว่า มีค่าการดูดซึมน้ำและความชื้นน้อยกว่า เช่น ไม้เทียมสังเคราะห์ เป็นต้น​

จริงอยู่ที่ “ไม้” มีคุณสมบัติที่ดีทั้งด้านคาร์บอนต่ำ สามารถปลูกทดแทนได้ มีความสวยงาม และได้รับสัมผัสความเป็นธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่การเลือกใช้ไม้ นอกจากต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อราแล้ว ก็ควรต้องรู้ถึงแหล่งที่มาของไม้ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่เป็นการทำลายบ้านของสัตว์อื่น หรือไม่เป็นการทำลายป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำตามธรรมชาติ​

เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
มอก. 497-2526 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปอบ​
สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้. เห็ดราทำลายไม้, 2549.​
ANSI A190.1-2022 Product Standard for Structural Glued Laminated Timber​
Maher Zakaria Ahmed Selim.  Evaluation of moisture content in wood fiber and recommendation of the best method for its determination, 2006.​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน