เลือก Light อย่างไร ให้ไร้รบกวน
เขียนบทความโดย RISC | 6 วันที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 6 วันที่แล้ว
“แสง” สิ่งที่ช่วยให้เรามองเห็น ไม่ว่าจะเป็นแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ หรือแสงจากสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา แสงจึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตบนโลก
โดยแสงที่ตาเราสามารถมองเห็นจะอยู่ในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 400 - 700 นาโนเมตร นอกเหนือจากแสงที่ตามองเห็นแล้ว ก็ยังมีแสงประเภทอื่นๆ ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และรังสีอินฟราเรด (IR)
นอกจากแสงจะช่วยให้มองเห็น และดำรงชีวิตได้สะดวกขึ้นแล้ว แสงจากดวงอาทิตย์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ แสงยังถูกนำมาใช้ในเทคโนโลยีต่างๆ อีกมากมาย ทั้งการแพทย์ การสื่อสาร หรือการคมนาคม
แม้ว่าแสงจะมีประโยชน์มากมาย แต่การใช้แสงไฟที่มากเกินไป หรือไม่เหมาะสมนั้น สามารถก่อให้เกิด “มลพิษทางแสง” (Light Pollution) ได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มักถูกมองข้ามอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์
ปัญหานี้เกิดจากแสงไฟที่ฟุ้งกระจายเกินความจำเป็น อย่างเช่น แสงไฟจากถนน อาคารสูง และป้ายโฆษณาที่ส่องสว่างตลอดคืน มลพิษทางแสงเหล่านี้รบกวนพฤติกรรมในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ส่งผลให้สัตว์ป่าเสียสมดุลในการดำรงชีวิต เช่น นกอพยพที่บินผิดเส้นทาง เต่าทะเลที่หลงทิศทางจากแสงไฟตามแนวชายฝั่ง และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาความมืดในการดำรงชีวิต
เพื่อลดผลกระทบของมลพิษทางแสงต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม เราจึงควรเลือกใช้แสงที่เหมาะสม โดยเฉพาะแสงที่ไม่รบกวนวงจรชีวิต และพฤติกรรมของสัตว์ในธรรมชาติ
จากรายงานวิจัย พบว่า แสงไฟที่เหมาะสมควรมีค่าอุณหภูมิสีสัมพันธ์ (Correlated Color Temperature, CCT) ไม่เกิน 3000 เคลวิน (K) มีค่าความยาวคลื่นโดยประมาณอยู่ที่ 600 - 700 นาโนเมตร ซึ่งให้แสงสีเหลืองอุ่น (Warm White) ที่สำคัญเราควรใช้ไฟที่มีทิศทางของแสงสว่างชัดเจน ไม่กระจายแสงหรือหันแสงไฟออกไปยังท้องฟ้า หรือพื้นที่ธรรมชาติที่มีสัตว์อาศัยอยู่ นอกจากนี้ เรายังสามารถช่วยลดมลพิษทางแสงได้ด้วยการปิดไฟที่ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเปิดไฟตลอดทั้งคืน หรือระบบตั้งเวลาปิด-เปิด เพื่อให้แสงทำงานเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น การใช้และการจัดการแสงอย่างเหมาะสมจึงสามารถช่วยลดมลพิษทางแสง และรักษาสมดุลของธรรมชาติให้ยั่งยืนได้ รวมถึงยังช่วยให้สิ่งมีชีวิตยังคงดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามปกติในสภาพแวดล้อม
เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC