Knowledge - RISC

แต่ละองศาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบกับเราอย่างไร?

เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว

1491 viewer

“มนุษย์ต้องพยายามหยุดยั้งไม่ให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสหรือ 2 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม” ประโยคนี้น่าจะมีใครหลายคนเคยได้ยิน และสงสัยว่าอุณหภูมิขึ้นเพียงแค่นี้จะส่งผลร้ายแรงอะไรขนาดนั้น​

เราอาจจะรู้สึกว่า เวลาที่ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศขึ้นหรือลงเพียงครึ่งองศาเซลเซียส ก็ไม่เห็นรู้สึกถึงความแตกต่างเลย แต่สำหรับโลกของเราแล้ว อุณหภูมิที่ต่างกันเพียงครึ่งองศา อาจหมายถึงการที่ผู้คนหลายล้านคนจะประสบความยากลำบากมากขึ้น​

งั้นเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นลองมาดูรายงานนี้กัน

ทาง Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ออกรายงานเกี่ยวกับการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เป็นการชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุณหูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และ 2 องศาเซลเซียส?​

ถ้าหากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภูมิภาคอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือซึ่งมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปี เมื่อถึงฤดูร้อนจะมีโอกาสที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายหมดเพียง 1 ครั้งใน 100 ปี แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำแข็งในเขตอาร์กติกอาจละลายหมดในฤดูร้อนทุกๆ 10 ปี

ขณะที่สภาสภาพภูมิอากาศออสเตรเลีย (Australia Climate Council) ได้เปรียบเทียบให้เห็นผลกระทบด้านอื่นๆ หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น เช่น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ปะการังทั่วโลกจะลดลง 70 - 90% แต่หากปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส ปะการังทั่วโลกอาจลดลงถึง 99% ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่า แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ จำนวนมาก หากปะการังหายไปจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งอย่างมหาศาล และนั่นก็หมายถึงแหล่งอาหารของเราก็หายไปด้วย​

ประชากรราว 14% ของทั้งโลกจะประสบภัยจากสภาพอากาศร้อนจัดหรือ Extreme Heat ทุกๆ 5 ปี หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 37% ของประชากรทั้งโลก หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส​

จากผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ ทำให้นานาชาติให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป​

เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
1. https://www.weforum.org/agenda/2021/07/2c-global-warming-difference-explained/​
2. https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/sites/2/2022/06/SR15_Full_Report_HR.pdf​
3. https://www.climatecouncil.org.au/resources/infographic-the-difference-between-1-5-and-2-degrees-warming/

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน