แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?
เขียนบทความโดย RISC | 3 วันที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 3 วันที่แล้ว
หากพูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กระทบกับเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราอาจจะนึกย้อนไปหลายปี จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือพูดง่ายๆ คือเป็นภัยพิบัติที่คนกรุงเทพฯ หลายคนอาจมองข้ามไปแล้วด้วยซ้ำ
ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างปี พ.ศ. 2538 - 2568 ครอบคลุมระยะเวลา 30 ปี พบว่ากรุงเทพฯ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้รวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง โดยจำแนกตามช่วงเวลาได้ตามนี้...
- พ.ศ. 2538–2548: จำนวน 7 เหตุการณ์
- พ.ศ. 2549–2558: จำนวน 17 เหตุการณ์
- พ.ศ. 2559–2568: จำนวน 13 เหตุการณ์
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกิดเฉพาะในอาคารสูง และมักมีลักษณะเบา ถึงปานกลาง แต่อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่แรงสั่นสะเทือนในกรุงเทพฯ มีความชัดเจนอย่างมาก จนตึกสูงทั่วเมืองโยกไหว และมีรายงานความเสียหายต่ออาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ชี้ให้เห็นว่าความถี่และระดับความรุนแรงของผลกระทบเริ่มเพิ่มขึ้น จนไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ในเมื่อแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แล้ว.....ทำไมรอบนี้ถึงเสียหายเยอะกว่าที่ผ่านมา?
แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง และไม่ได้เป็นเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวหลักของประเทศไทย แต่กลับรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไกลอยู่บ่อยครั้ง โดยสามารถหาเหตุผลหลักทางธรณีวิทยาได้ดังนี้
1. ดินอ่อน: พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ (และหลายจังหวัดในภาคกลาง) เป็นดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะสมตัวมานานนับพันปี มีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน (Soft Clay) ที่มีความลึกตั้งแต่ 10 - 30 เมตร ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญ คือ สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลมาถึงชั้นดินอ่อนของกรุงเทพฯ พลังงานของคลื่นอาจเกิดการ “ขยาย” แรงสั่นสะเทือนในบางความถี่ จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูง ยังสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้อย่างชัดเจน
2. แผ่นดินไหวความถี่ต่ำ: แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดไกลจากกรุงเทพฯ มักปล่อยคลื่นแผ่นดินไหวในช่วงความถี่ต่ำ (Low-Frequency Seismic Waves) ซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลได้ถึง 1,000 กิโลเมตร โดยพลังงานไม่หายไป และส่งผลกระทบกับอาคารสูง 10 ชั้นขึ้นไปโดยตรง ขณะที่บริเวณพื้นดินอาจแทบไม่รู้สึกอะไร (ตามกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา) ยิ่งโครงสร้างของอาคารถูกออกแบบมาให้สูง และยืดหยุ่นมากเท่าไร ความถี่ที่สั่นเองอย่างเป็นธรรมชาติของโครงสร้างอาคารก็จะสอดคล้องกับคลื่นของแผ่นดินไหวมากขึ้นเท่านั้น และเกิดการสั่นสะเทือน และ “โยก” อย่างมีนัยสำคัญ
แม้อาคารสูงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความเสี่ยงจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนซึ่งสามารถขยายแรงสั่นไหวได้ แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสามารถจัดการได้หากมีการออกแบบโครงสร้างตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง โดยสามารถศึกษาแนวทางการออกแบบเพื่อความปลอดภัยในกรณีแผ่นดินไหวเพิ่มเติมได้จากบทความนี้ (https://mqdc.link/4lfVStr) “มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว” โดย คุณสริธร อมรจารุชิต หนึ่งในผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบอาคารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)
เนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส แล Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions และ คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://earthquake.tmd.go.th/document.html
https://earthquake.tmd.go.th/documents/file/seismo-doc-1606435108.pdf
https://op.mahidol.ac.th/rm/wp-content/uploads/2018/06/earthquake_140516.pdf