Knowledge - RISC

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน

เขียนบทความโดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 7 เดือนที่แล้ว

2016 viewer

นับเป็นระยะเวลานานที่ปัญหาโลกร้อนได้เป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม และสังคมมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรง อย่างคลื่นความร้อน พายุ และไฟป่า และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและใช้ชีวิตของเรา​

ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญแล้ว อีกก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ “ก๊าซโอโซน”​

โอโซน (O₃) เกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจน (O₂) ที่มีอยู่มากมายในอากาศหนึ่งโมเลกุลและอะตอมออกซิเจนอิสระ (O₂₋) ที่แตกตัว เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet: UV) ของโมเลกุลออกซิเจนนั่นเอง แต่เมื่อโอโซนได้รับพลังงานจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ จะเกิดการสลายตัวเช่นเดียวกัน กลายเป็นอะตอมออกซิเจนอิสระและโมเลกุลของก๊าซออกซิเจน ​

รู้หรือไม่ว่า โอโซน (O₃) เป็นก๊าซที่มีบทบาทสองด้านต่อปัญหาภาวะโลกร้อน?​

ในชั้นบรรยากาศชั้นกลางหรือสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) โอโซนจะทำหน้าที่ป้องกันรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ ช่วยลดการดูดกลืนความร้อนของพื้นโลก แต่สำหรับในชั้นบรรยากาศชั้นล่างหรือโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) โอโซนกลับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกซะเอง​

ถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมเป็นเช่นนั้น งั้นเรามาดูคำตอบนี้กัน...​

โอโซนภาคพื้นดิน (Ground Level Ozone) ก็คือโอโซนที่ระดับความสูง 0 ถึงประมาณ 2 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งในธรรมชาติโอโซนที่เกิดขึ้นบนภาคพื้นดินมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน แหล่งกำเนิดโอโซนส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น จากไอเสียของรถยนต์หรือไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะมีไนโตรเจนออกไซด์(NOₓ) เป็นองค์ประกอบหลัก หรือเกิดจากปฏิกิริยาเคมีแสง (Photochemical Reaction) รังสีอัลตราไวโอเลตของสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compound: VOC) จากสีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ำยาฟอกสี หรือยาฆ่าแมลงต่างๆ โดยโอโซนบนภาคพื้นดินถือเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก และยังเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ดูดกลืนและกักเก็บรังสีความร้อนจากพื้นผิวโลก ไม่ให้คายออกสู่บรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และยังมีประสิทธิภาพในการดูดกลืนความร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 3 เท่า​

ปัจจุบัน มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษที่เป็น "ต้นเหตุของการเกิดโอโซน" ในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ด้วยเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ เช่น ระบบกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์, ระบบดักจับอนุภาคละอองขนาดเล็ก เพื่อลดการปล่อยสารที่ก่อให้เกิดโอโซนจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฮบริด ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน เพื่อคงสมดุลของระบบนิเวศ และรักษาสภาพอากาศของโลกให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตต่อไป​

เนื้อหาโดย คุณ ชนินทร์ กุลสุรกิจ สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญระดับ WELL AP, DGNB international, TREES-A และ DGNB consultant, RISC​

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน