ฝุ่นตัวร้าย ไม่ใช่แค่ปอดแต่ทำร้ายไปถึงสุขภาพใจและสมอง
เขียนบทความโดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 เดือนที่แล้ว
รู้หรือไม่ ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ทำร้ายแค่ปอด แต่ทำร้ายไปถึงสุขภาพใจและสมองได้ด้วย
ทุกๆ ต้นปี ตั้งแต่ช่วงมกราคมเป็นต้นไป ประเทศไทยมักจะประสบกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่เป็นประจำ และกำลังเป็นวาระแห่งชาติอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นมีหลายงานวิจัยที่สนับสนุนทฤษฏีที่ว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นต้นกำเนิดของปัญหาระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ ปอดอักเสบ ไปจนถึงมะเร็งปอด นอกจากนี้ การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ก็ยังทำได้ยากอีกด้วย เพราะต้องใช้หน้ากากที่มีคุณสมบัติป้องกันฝุ่นเวลาออกไปนอกอาคาร หรือใช้เครื่องกรองฝุ่นสำหรับภายในอาคาร
แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่านั้น พบงานวิจัยในช่วงหลังๆ ว่านอกจากปัญหาที่เกิดกับสุขภาพกายแล้ว เจ้าฝุ่นตัวร้ายนี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจของเราได้อีกด้วย
จากงานวิจัยของ Susanna Roberts ที่ตีพิมพ์ในปี 2019 ผลงานวิจัย “Exploration of NO2 and PM2.5 air pollution and mental health problems using high-resolution data in London-based children from a UK longitudinal cohort study” ที่ทำการศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ในประเทศอังกฤษพบว่า เมื่อเด็กที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นได้เติบโตขึ้นจนมีอายุมากกว่า 18 ปี เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากเป็นพิเศษ โดยตั้งสมมติฐานไว้ว่า ฝุ่นนั้นทำให้เกิดการอักเสบต่อระบบประสาท (Neuroinflammation) ที่มีผลกระทบด้านอารมณ์ และทำให้ร่างกายเกิดสภาวะเครียดมากขึ้นได้
นอกจากงานวิจัยนี้แล้ว ยังมีอีกงานวิจัยจาก Liuhua Shi ที่ตีพิมพ์ในปี 2023 ผลงานวิจัย “Incident dementia and long-term exposure to constituents of fine particle air pollution: A national cohort study in the United States” ซึ่งทำการศึกษาความสัมพันธ์ของฝุ่น PM2.5 กับโรค Dementia ที่เกิดในผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และได้พบว่าถ้ามีการได้รับฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น Dementia ได้ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากกระบวนการทางการเกษตร และเกิดจากไฟป่า
นี่เป็นเพียงตัวอย่างงานวิจัยจากงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงในคนทั่วไปแต่รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก และผู้สูงวัยอีกด้วย ซึ่ง RISC หวังว่าบทความนี้เราคงได้เห็นถึงความน่ากลัวของฝุ่น PM2.5 ในมิติสุขภาพใจและสมอง และได้ตระหนักที่จะป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 กันมากขึ้น
เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC
ขอบคุณข้อมูลจาก
Exploration of NO2 and PM2.5 air pollution and mental health problems using high-resolution data in London-based children from a UK longitudinal cohort study (2019)
Incident dementia and long-term exposure to constituents of fine particle air pollution: A national cohort study in the United State (2023)