RISC

"โรคซึมเศร้า" ปัญหาใกล้ตัวที่คนมองข้าม

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

2758 viewer

เคยรู้สึกแบบนี้มั้ย? เริ่มไม่อยากออกไปใช้ชีวิต เบื่อกับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่มีเรี่ยวแรงทั้งวัน อยากอยู่ตัวคนเดียว ไม่อยากเข้าสังคมหรือพบเจอใคร เริ่มรู้สึกเฉยชา เศร้าหมอง และไม่สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว

อาการเหล่านี้เชื่อว่า ทุกคนน่าจะเคยเจอมาสักครั้งในชีวิต บางคนสามารถกลับมาดีขึ้นได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็สะสมอาการเหล่านี้ในทุกๆ วัน และเมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มส่งผลต่อการดำเนินชีวิต นั่นหมายความว่าเรากำลังเป็น “โรคซึมเศร้า”

โรคซึมเศร้า เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต ภายนอกร่างกายอาจดูแข็งแรง แต่สภาพจิตใจนั้นกลับเปราะบาง โดยในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักจะมีอาการหลักๆ ก็คือ มีอารมณ์เศร้าหมองอยู่ตลอด รู้สึกไร้คุณค่าและรู้สึกไม่ดีกับชีวิตของตัวเอง รู้สึกเบื่อและหมดความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ลังเลใจหรือวิตกกังวล นอกจากนี้ ยังมีอาการนอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป เหนื่อยล้าตลอดเวลา หมดแรง ไม่มีสมาธิ พูดช้า เคลื่อนไหวช้า และมีความคิดที่อยากจะตายและทำร้ายร่างกายตัวเองในที่สุด​

ความน่ากลัวของโรคซึมเศร้าอีกอย่างนั้นก็คือ สามารถเกิดขึ้นกับเราตอนไหนก็ได้ โดยไม่สนว่าเราจะเป็นใคร เพศอะไร อายุเท่าไหร่ สัญชาติใด หรือมีสภาพแวดล้อมแบบไหนก็ตาม ซึ่งปัจจุบันมีสถิติระบุไว้ว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) กว่า 5% จากทั่วโลก กำลังประสบกับโรคซึมเศร้าอยู่

ฟังดูอาจจะรู้สึกหมดหวัง แต่...จริงๆ แล้ว โรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ถ้าพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้นอาการและได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยวิธีการรักษาที่นิยมกันมากที่สุดจะเป็นการให้ยารักษากลุ่มแก้ซึมเศร้า (Antidepressants) เพื่อช่วยปรับสารสื่อประสาทให้สมดุล, การรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy) หรือแม้แต่การรักษาด้วยการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ซึ่งวิธีนี้ก็มีหลายวิธี อย่างเช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy; CBT) การบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive Therapy) รวมทั้งการบำบัดแบบปรับความสัมพันธ์คนในครอบครัว (Family Therapy)

นอกจากวิธีการในปัจจุบันแล้ว ก็ยังมีความพยายามในการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าในรูปแบบต่างๆ เพิ่มเติมออกมาอีกมากมาย เช่น กลุ่มนักวิจัยจาก University College of London พัฒนาระบบการทำจิตบำบัดให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผ่านทางแว่น Virtual Reality (VR) โดยพบว่าสามารถลดระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตัวโปรแกรมบำบัดนั้น จะนำผู้ป่วยไปพบกับตัวละครในโปรแกรมที่เป็นเด็กน้อยคนหนึ่งที่กำลังเศร้าและร้องไห้ ผู้ป่วยจะต้องค่อยๆ ปลอบเด็กคนนั้นให้กลับมาสดใสร่าเริงอีกครั้งหนึ่ง แล้วเมื่อทำสำเร็จ ตัวโปรแกรมจะนำคำปลอบใจต่างๆ ที่เราพูดกับเด็กคนนั้นมาฉายซ้ำให้เราฟังแทน เสมือนกับเราเป็นเด็กน้อยคนนั้นที่ต้องการคำปลอบประโลมนั่นเอง

อีกหนึ่งหนทางจากกลุ่มนักวิจัยของ University of California ที่พัฒนาเครื่องกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้าแบบฝัง ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบฝัง แต่เปลี่ยนจากกระตุ้นหัวใจไปกระตุ้นสมองส่วนลึกแทน เพื่อควบคุมและปรับสมดุลสารสื่อประสาทให้อยู่ในระดับคงที่ตลอดเวลา ซึ่งวิธีการรักษาแบบนี้จะเหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นโรคซึมเศร้าติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน และผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการทั่วไป

จะเห็นได้ว่า แม้โรคนี้จะน่ากลัวเพียงใด แต่ก็ยังมีความหวังในการรักษาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นตอนนี้ ถ้าใครกำลังรู้สึกเศร้า หรืออยู่ในสภาวะซึมเศร้าอยู่ มาสู้กับมันไปด้วยกันนะครับ RISC เชื่อว่าวันที่ท้องฟ้าสดใสกำลังรอเราอยู่อย่างแน่นอน

เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ​
องค์กรอนามัยโลก (WHO), ​
บทความ Virtual reality therapy could help people with depression ​
A ‘Pacemaker for the Brain’: No Treatment Helped Her Depression — Until This​

แนะนำสำหรับคุณ