RISC

10 จุดอ่อนของบ้าน ทำร่างพัง จิตป่วยไม่รู้ตัว (1)

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

1004 viewer

บ้านก็ดูแลอย่างดี เฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อเข้าบ้านก็มีคุณภาพ แต่ทำไม...อยู่ๆ ไป กลับรู้สึกป่วยง่าย เบื่ออาหาร เครียด หรือซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ​

นั่นก็เพราะว่าบ้านที่เราอยู่ ยังมีอะไรที่อาจส่งผลต่อสุขภาวะของเรา งั้นวันนี้เราลองมาสำรวจ 5 ใน 10 จุดอ่อนที่อยู่ในบ้านของเรากัน ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราป่วยทั้งทางกายและทางใจ…

 

1. สีทาบ้านทำให้ป่วย

 

อยู่ในบ้านเฉยๆ ไม่ได้ออกไปไหน แต่ทำไมรู้สึกแสบตา แสบจมูก หรือวิงเวียนศีรษะ สาเหตุนั้นอาจมาจากสีที่ใช้ทาบ้านเราก็ได้ ​

อย่างที่เรารู้กัน ส่วนประกอบของสีทาบ้านจะมีค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound) หรือ VOCs อยู่ในนั้น ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มมีปัญหา ระบบประสาทถูกทำลาย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด แสบตา หายใจลำบาก ร้ายกว่านั้น ถ้าได้รับในปริมาณมากๆ อาจถึงขั้นหมดสติ และถ้าสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เยื่อหุ้มปอดถูกทำลายในที่สุด ​

สีที่ดีต่อสุขภาพนั้น ต้องมีส่วนผสมที่ลดปริมาณสิ่งปนเปื้อนจากวัสดุประสาน (Adhesive) วัสดุยาแนว (Sealant) รองพื้น สี และวัสดุเคลือบผิวภายในอาคารที่มีกลิ่นแรง สร้างความรำคาญและเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งควรเลือกใช้วัสดุที่มีการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายต่ำ (Low-VOCs) โดยค่าของ VOCs มี 2 ระดับที่แนะนำ คือ Low VOCs = 5-50 g/l และ Zero VOCs = น้อยกว่า 5 g/l​

เมื่อรู้แบบนี้ ก็อย่าลืมดูค่า VOCs ก่อนซื้อสีมาทาบ้านกันนะ

 

 

2. เลือกแสงไฟผิด ก็เบื่ออาหารได้

 

ส่วนใหญ่ไฟในบ้านเรามักจะใช้ไฟแบบ Daylight หรือ Cool White เพราะจะให้แสงโทนสีขาวที่ทำให้มองเห็นอะไรในบ้านชัด แต่สำหรับพื้นที่ที่ใช้นั่งรับประทานอาหาร แสงสีขาวอาจทำให้อาหารมีสีซีดจาง ดูไม่น่ารับประทานจนเกิดอาการเบื่ออาหารได้ ​

ไฟที่เหมาะกับพื้นที่รับประทานอาหาร จึงเป็นไฟแบบ Warm White ที่ให้โทนสีส้ม ซึ่งมีค่าอุณหภูมิสีของแสง (The color temperature) 3000 K ช่วยเน้นให้สีของอาหารดูน่ารับประทาน กระตุ้นความอยากอาหารให้กับเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวของเราได้เป็นอย่างดี​

นอกจากระดับค่าอุณหภูมิสีของแสงแล้ว ก็ยังมีค่าดัชนีชี้วัดความถูกต้องของสี (colour rendering index) และค่าการกระพริบของหลอดไฟ (flicker) ซึ่งค่าดัชนีความถูกต้องของสีสูงจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของพื้นที่โดยรอบที่เราอยู่ (perception of space) ถ้าแสงที่มีค่าดัชนีความถูกต้องของสีต่ำ จะทำให้เราแยกความแตกต่างระหว่างวัตถุหรือการรับรู้ของพื้นที่โดยรอบผิดเพี้ยนไป โดยตรวจสอบค่าดัชนีความถูกต้องของสีที่หลอดไฟได้จากการดูค่า CRI ยิ่งค่าสูงก็ยิ่งดี ซึ่งหลอดไฟทั่วไปจะมีค่า CRI อยู่ที่ 70-80 แต่สำหรับการออกแบบแสงที่ต้องการมาตรฐานสูง ค่า CRI ควรอยู่ที่ 95-100 หรือไม่ควรต่ำกว่า 90​

 

3. โคมไฟอยู่ตรงหัว ทำหัวร้อน หน้าหมอง

 

นั่งทำงานหรืออ่านหนังสืออยู่ดีๆ หัวก็ร้อนขึ้นมาซะงั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้โมโหหรือเครียดกับงานที่ทำ…แล้วมันเกิดจากอะไร? ​

หัวร้อนที่พูดถึง มาจากการติดตั้งตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานไม่เหมาะสม โดยตำแหน่งไฟจ่อที่ศีรษะเรามากเกินไป ซึ่งนอกจากหัวจะร้อนแล้ว ยังเกิดเงาบังทำให้เสียสายตา แถมยังดูหน้าหมองหมดสวย เพราะมีเงาตกที่หน้าตลอดอีกด้วย ​

การปรับแก้ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานที่ไม่เหมาะสม สามารถยึดหลักได้โดย... 

- ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานต้องไม่ตรงตำแหน่งเตียง เพราะความร้อนจากโคมไฟที่ส่องตรงศีรษะ จะมีผลต่อการเจ็บป่วยได้ และเพื่อไม่ให้เกิดการมานั่งทำงานบนเตียง หรือนอนอ่านหนังสือ จนเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังจากการจัดสรีระผิดปกติบ่อยๆ

- ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานต้องไม่ตรงตำแหน่งที่นั่ง เพราะความร้อนจากโคมไฟที่ส่องตรงศีรษะ จะมีผลต่อการเจ็บป่วยและจะทำให้เกิดเงาเมื่อก้มอ่านหนังสือ และหน้าตาดูหมองไม่สวยอีกด้วย

 

4. ติดไฟผิดตำแหน่ง อาจทำให้ป่วย

เคยเป็นมั้ย? นั่งดูทีวีเพลินๆ อยู่ๆ ก็รู้สึกปวดหัวขึ้นมา หรือนอนหลับมาเต็มที่ พอตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนจะป่วยและเจ็บคอ 

 

อาการที่ว่ามาทั้งหมด อาจเกิดจากการวางตำแหน่งเครื่องปรับอากาศที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตำแหน่งการเป่าลมเย็นนั้น มีผลต่ออุณหภูมิที่เกิดภายในห้อง ทั้งตำแหน่งการเป่าลมเย็น (Supply Air) ตลอดจนอากาศหมุนกลับ (Return Air) ที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ดังนั้นการวางตำแหน่งเครื่องปรับอากาศควรจะต้องยึดหลักตามนี้...

- หลีกเลี่ยงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศบริเวณหัวเตียงหรือตำแหน่งนั่ง เนื่องจากเป็นจุด Return ของอากาศเสียภายในห้องเข้าสู่เครื่องปรับอากาศ ทำให้เราสูดอากาศไม่ดีที่สุดของห้องเข้าไป อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้

- หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์บริเวณปลายเตียงหรือตำแหน่งนั่ง เนื่องจากเป็นจุดที่ลมเย็นเป่าเข้าสู่เตียง ทำให้เราสูดอากาศเย็นเข้าไป อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้

 

- ควรติดตั้งให้ลมเย็นเป่าด้านข้างของเตียงนอน เนื่องจากจะทำให้ลมเย็นพัดผ่านตัวด้านข้าง ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ทั้งยังบำรุงรักษาและทำความสะอาดได้สะดวก

 

5. พรมสะสมฝุ่น สร้างภูมิแพ้

บ้านก็ทำความสะอาดดี แต่ทำไมอยู่ดีๆ ก็รู้สึกเป็นภูมิแพ้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากพรมปูพื้นในบ้านของเรานี่เอง จริงอยู่ที่การปูพรมทำให้บ้านดูมีมิติขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับ ว่าพรมก็เป็นแหล่งสะสมฝุ่น ไรฝุ่น เชื้อราและแบคทีเรียที่ดีด้วยเหมือนกัน ทั้งยังมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือกลิ่นอับ และมีสารเคมีระเหยจากวัสดุพรมและกาวที่ใช้ติดตั้งอีกด้วย วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องมีพรมในบ้าน แต่หากยังอยากได้พรมตกแต่งบ้านอยู่ ขอแนะนำวิธีการเลือกพรมให้เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองร้อนชื้น และการใช้งานแบบคนไทย โดยพรมที่จะใช้ตกแต่งต้อง...

 

- มีคุณสมบัติไม่สะสมความชื้นและต้านเชื้อรา เลือกวัสดุที่ระบายความชื้นได้เร็ว ไม่ดูดซับความชื้นเก็บไว้ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น นาโนเทคโนโลยี สามารถผลิตให้ตัววัสดุมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราและความชื้นได้ - ใช้พรมชนิดขนสั้น ช่วยลดการสะสมฝุ่นและความชื้น และยังดูแลรักษาง่ายอีกด้วย - วัสดุทำพรมไม่เป็นอาหารเชื้อรา หลีกเลี่ยงพรมที่ทำจากขนสัตว์ หรือเส้นใยจากพืช เพราะเป็นแหล่งอาหารที่ดีให้กับเชื้อรา สาเหตุหลักของภูมิแพ้เลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมีการคิดค้นวัสดุใหม่ เช่น ใยสังเคราะห์ ใยพีวีซี ที่ผลิตและควบคุมสารต่างๆ ให้ไม่สะสมฝุ่น และไม่สะสมความชื้น

 

อ่านตอนต่อไปได้ที่ https://risc.in.th/th/knowledge/10-issues-in-your-home-that-could-harm-your-physical-or-mental-well-being-2

ติดตาม Facebook Page ของเราได้ที่ RISC Well-Being: https://www.facebook.com/riscwellbeing/

แนะนำสำหรับคุณ

Waste to "VALUE" เปลี่ยนขยะให้มีค่า
Materials & Resources

Waste to "VALUE" เปลี่ยนขยะให้มีค่า

"วัสดุก่อสร้างจากเถ้าชีวมวล" ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Materials & Resources

"วัสดุก่อสร้างจากเถ้าชีวมวล" ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Photocatalytic Coating นวัตกรรมเคลือบผิววัสดุ เปลี่ยนมลพิษให้ดีต่อลมหายใจ
Materials & Resources

Photocatalytic Coating นวัตกรรมเคลือบผิววัสดุ เปลี่ยนมลพิษให้ดีต่อลมหายใจ

พรมที่่ต้องการทิ้ง ชุบชีวิตมาใช้ใหม่กันเถอะ
Materials & Resources

พรมที่่ต้องการทิ้ง ชุบชีวิตมาใช้ใหม่กันเถอะ

"Low Carbon Materials" ทางเลือกเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
Materials & Resources

"Low Carbon Materials" ทางเลือกเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เลือกไม้อย่างไร? ให้ไม่ขึ้นรา
Materials & Resources

เลือกไม้อย่างไร? ให้ไม่ขึ้นรา

หน้าฝนไม่ลื่นไม่ไถล วัสดุพื้นแบบไหนที่ช่วยกันลื่นได้?
Materials & Resources

หน้าฝนไม่ลื่นไม่ไถล วัสดุพื้นแบบไหนที่ช่วยกันลื่นได้?

นวัตกรรมการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
Materials & Resources

นวัตกรรมการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

เลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนถึง Well-being?
Materials & Resources

เลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนถึง Well-being?

ฤดูร้อนนี้ไม่ต้องยืนมองฟ้า แค่หา "ฉนวนกันความร้อน" มาใช้
Materials & Resources

ฤดูร้อนนี้ไม่ต้องยืนมองฟ้า แค่หา "ฉนวนกันความร้อน" มาใช้