3 พฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มมลภาวะทางอากาศ ทำร้ายสุขภาพคนในบ้าน
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
หลายคนมักจะคิดว่า การใช้ชีวิตนอกบ้านน่าจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับมลพิษทางอากาศมากกว่าการอยู่ในบ้าน แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป
พฤติกรรมในชีวิตประจำวันในบ้านบางครั้ง เราอาจจะเผลอทำอะไรบางอย่างที่ก่อมลพิษทางอากาศโดยที่เราไม่รู้ตัว จนกลายเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ซึ่งพฤติกรรมที่ว่าคือ...
1. การทำอาหารโดยไม่มีการระบายอากาศที่เหมาะสม: การที่เราไม่ใช้พัดลมดูดอากาศหรือเปิดหน้าต่างขณะปรุงอาหารอาจนำไปสู่การสะสมของมลพิษ และละอองน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และอนุภาคขนาดเล็ก ดังนั้นเวลาที่ทำอาหารจึงควรเปิดพัดลมดูดอากาศ หรือเปิดหน้าต่างระบายอากาศ เพื่อช่วยดูดและระบายมลพิษ รวมทั้งกลิ่นอาหารต่างๆ ไม่ให้สะสมภายในบ้าน
2. การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs): ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs อย่างเช่น แอมโมเนีย คลอรีน และฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้สามารถถูกปล่อยออกสู่อากาศได้เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ส่งผลให้อากาศภายในอาคารมีปริมาณ VOCs ในระดับสูง หากได้รับ VOCs เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ดังนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ควรเลือกสารทำความสะอาดที่ไม่ระคายเคืองต่อจมูก และผิวหนัง เป็นกลุ่มสารทำความสะอาดที่อ่อนโยน หรือสกัดจากธรรมชาติ
นอกจากนี้ การจัดเก็บสารเคมีหรือตัวทำละลายภายในอาคารไม่เหมาะสม ก็จะทำให้สารเคมีเหล่านั้นสะสมในอาคารได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิดที่เป็นสารเคมี สี หรือยาฆ่าแมลง ซึ่งสารที่ว่าควรจัดเก็บไว้ในที่มีอากาศถ่ายเท หรือตู้เก็บของโดยเฉพาะ ไม่ไว้ปะปนกับผลิตภัณฑ์ทั่วไป หรือพื้นที่ใช้งาน เพื่อลดโอกาสการระเหยของสารเคมีในพื้นที่อยู่อาศัยประจำวัน
3. การระบายอากาศไม่เพียงพอ: การระบายอากาศที่ไม่ดีในบ้านอาจส่งผลให้เกิดการสะสมของมลพิษทางอากาศภายในอาคาร หากไม่มีการไหลเวียนของอากาศที่เหมาะสม สารมลพิษ เช่น ฝุ่น สะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง สปอร์ของเชื้อรา และสารเคมีที่ระเหยง่าย อาจสะสมอยู่ภายในอาคารเป็นระยะเวลานาน และนำไปสู่ปัญหาระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ สิ่งสำคัญคือ ต้องจัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสมโดยการเปิดหน้าต่าง ใช้พัดลมดูดอากาศ และรักษาพื้นที่ที่อยู่อาศัยให้สะอาดและมีอากาศถ่ายเทอยู่สม่ำเสมอ
เราคงได้เห็นกันแล้วทั้ง 3 พฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดการสะสมมลพิษอากาศในบ้านของเรา การหมั่นตรวจสอบ และดูแลบ้านให้ดี จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมมลพิษอากาศ จนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพของเราได้
เนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, RISC