Knowledge - RISC

Code Red สัญญาณเตือนวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

2289 viewer

ที่ผ่านมา เราคงเห็นข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงทั่วโลกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งนั่นกำลังเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างที่กำลังบอกเราอยู่หรือเปล่า?​

จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ได้ยืนยันว่าโลกเราร้อนขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส และมนุษย์คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวนนี้ขึ้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็น การเกิดคลื่นความร้อนจัด ฝนตกถล่มอย่างหนักในหลายพื้นที่และเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ​

นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลยังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการละลายของธารน้ำแข็ง และการขยายตัวของน้ำในมหาสมุทรจากความร้อนที่สะสมในน้ำทะเล โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้นสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี ค.ศ.1971 จาก 1.3 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1901 - 1971 เป็น 3.7 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 2006 - 2018​

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติแถลงว่า นี่เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับสีแดง (Code Red) สำหรับมนุษยชาติแล้ว การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญ เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก พร้อมกับการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดจากภาวะโลกรวนอีกด้วย ​

สำหรับประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนเช่นกัน ซึ่งหลักๆ ก็จะมีความเสี่ยงจากน้ำทะเลหนุนสูง ปริมาณน้ำฝนที่ตกชุกและรุนแรง รวมไปถึงภัยแล้งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้น การปรับตัวให้พร้อมรับมือจึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ​

หากเหลียวมองดูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงจากน้ำทะเลหนุนสูงและผลกระทบจากภาวะโลกรวน แต่สิงคโปร์มีการวางแผนเพื่อรับมือไว้เรียบร้อยแล้ว โดยประกาศเป็นเป้าหมาย Resilient Future ที่ประกอบด้วย​
1. มาตรการเพิ่มปกป้องชายฝั่งและภัยน้ำท่วม​
2. เพิ่มขีดความสามารถการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ​
3. ลดการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง​

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า หลายมาตรการของสิงคโปร์นั้น เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำทะเลหนุนสูงและปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และอาจจะมองไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่มีแนวโน้ม หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย เพื่อการตั้งรับ และรับมือได้ล่วงหน้า​

เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
1. https://www.ipcc.ch/report/sixth-assessment-report-cycle/​
2. https://www.greenplan.gov.sg/key-focus-areas/resilient-future/​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน