การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ
เขียนบทความโดย RISC | 10 ชั่วโมงที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 10 ชั่วโมงที่แล้ว
จะต้องเตรียมตัวและตั้งรับอย่างไร...จึงจะรอด กับภัยพิบัติที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว ที่ไม่ได้แค่ส่งผลกระทบกับตัวอาคารและสภาพแวดล้อมที่เสียหายเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสภาวะจิตใจอีกด้วย
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ของแผ่นเปลือกโลก Indian Plate และ Eurasian Plate ทำให้อาคารในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับความเสียหายไปด้วย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากแรงสั่นสะเทือนในระยะไกล ประกอบกับสภาพชั้นดินที่อ่อนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงเหมือนเป็นการขยายสัญญาณให้เป็นแรงสั่นสะเทือนในรูปแบบคลื่นยาว
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมองว่า จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังถือว่าประเทศไทยเรามีการตั้งรับที่ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากหลายๆ อาคารมีการออกแบบ และก่อสร้างตามกฎหมาย ทำให้สถานการณ์คลายความกังวลไปได้ชั่วคราว
แต่...ถ้าวันหนึ่งจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ประเทศไทย หรือเข้าใกล้มากขึ้น ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร?
นอกจากอาคารสูงแล้ว บ้านเรือนทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว อีกทั้งอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ คงเสียหายเป็นวงกว้างมากกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎหมายควบคุมอาคารให้มีการคำนึงถึงการต้านทานแรงแผ่นดินไหว
อีกทั้งระบบระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางของเมืองทั้งหมด ที่อาจต้องหยุดชะงักเนื่องจากระบบถนนและการจราจรเสียหาย ระบบไฟฟ้า น้ำประปาถูกระงับ ระบบสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตล่ม ส่งผลให้การสัญจร หรือการติดต่อสื่อสารเป็นอัมพาตได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ล่าสุด เพียงแค่รถไฟฟ้าหยุดให้บริการไม่กี่ชั่วโมง ยังกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างได้ขนาดนี้
"การป้องกันปัญหา (Prevention)" และ "การบรรเทาผลกระทบ (Mitigation)" เป็นหนทางที่ลดความเสี่ยงได้ดีที่สุด อย่างเช่น การออกแบบอาคารใหม่และเสริมสร้างอาคารเก่าเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหว, การออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงการป้องกันอัคคีภัย, การป้องกันน้ำท่วมโดยการยกระดับพื้น วางระบบคันกั้นน้ำ หรือโยกย้ายตำแหน่งเครื่องจักรและงานระบบอาคารให้พ้นระดับน้ำท่วม
สำหรับภัยธรรมชาติอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เราจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเอาตัวรอดจากสถานการณ์เสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ยังหมายรวมถึงอุทกภัย อัคคีภัย ไฟป่า มลพิษทางอากาศ สารเคมีระเบิด และอื่นๆ อีกมากมาย แล้วอะไรบ้างที่ "ต้องมีติดตัว" และอะไรบ้างที่ "ต้องมีติดบ้าน"?
ประเทศไทยยังไม่สามารถทุ่มงบมหาศาลในการลงทุนระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว (Earthquake Early Warning System) อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เมื่อไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยรู้ทั้งรู้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้น การเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ (Disaster Preparedness) และการเตรียมการอพยพ (Evacuation Plan) จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ และควรทำทันที
อาคารสาธารณะ ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก จำเป็นต้องตอบสนองอย่างทันสถานการณ์ และสื่อสารกับคนหมู่มากได้อย่างถูกต้อง กระชับ ฉับไว โดยที่มีหลายหน่วยงานจากทุกภาคส่วนให้ข้อมูลแนวทางอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและนำไปปรับใช้ ตัวอย่างเช่น คู่มือการบริหารสถานการณ์วิกฤต กรณีเกิดแผ่นดินไหวสำหรับอาคารสาธารณะ และคู่มือการจัดการฉุกเฉินสำหรับอาคารสำนักงานในเหตุการณ์แผ่นดินไหว จัดทำและเผยแพร่โดยสมาคมวิชาชีพการบริหารทรัพยากรอาคาร เป็นต้น
ที่พักอาศัย แนะนำให้ทุกบ้านมีการเตรียมพร้อม โดยมีสิ่งที่ต้องสำรองติดบ้านไว้เสมอ และต้องมีการหมุนเวียนนำของใหม่มาแทนของเก่าอย่างเป็นประจำ (Rolling Stock)
- น้ำดื่ม คือสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด ควรสำรองไว้ที่ขั้นต่ำ 3 วัน (โดยคำนวณความต้องการน้ำดื่มที่ปริมาณ 3 ลิตร ต่อคน ต่อวัน) และอาจต้องสำรองถึง 7 วัน หรือมากกว่านั้น ตามการประเมินความสามารถของพื้นที่ในการอยู่รอดได้ เพื่อรอการฟื้นฟู หรือมีการช่วยเหลือจากส่วนกลาง
- อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง หรืออาหารสำเร็จรูป ควรเป็นรูปแบบที่สามารถรับประทานได้โดยไม่ปรุง หรือไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า และคำนึงถึงสารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอด้วย โดยเฉพาะโปรตีน
- อุปกรณ์สำหรับการขับถ่าย เช่น ถุงพลาสติก
- กระเป๋าฉุกเฉินสำหรับตนเอง สมาชิกในครอบครัว และสัตว์เลี้ยง กรณีที่จำเป็นต้องอพยพออกจากที่พักอาศัยไปยังศูนย์พักพิง หรือสถานที่อื่นๆ ที่สามารถพกพาได้สะดวก
นอกจากการเตรียมรับมือขั้นต้นแล้ว Assoc. Prof. Dr. Yusuke Toyoda รองศาสตราจารย์ประจำ College of Policy Science และ Institute of Disaster Mitigation for Urban Cultural Heritage, Ritsumeikan University, Kyoto ประเทศญี่ปุ่น และนักวิจัยพันธมิตร (Researcher Alliance) แห่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ให้ข้อมูลการศึกษาจากการถอดบทเรียนของประเทศญี่ปุ่นที่สำคัญซึ่งประเทศไทยเราอาจจะยังไม่ได้เตรียมรับมือเท่าที่ควร นั่นคือ...
การเสียชีวิตของผู้ประสบภัยพิบัติ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเท่านั้น หากสภาพจิตใจและร่างกายที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์นั้นไม่ได้รับการเยียวยา ถึงแม้ได้รับการช่วยเหลือด้านที่พักพิงและปัจจัย 4 อื่นๆ แต่ต้องถูกแยกตัวออกจากสังคมเดิมจากความจำเป็นในการอพยพไปยังพื้นที่พักพิงอื่นที่มีจำนวนจำกัด โดยไม่มีครอบครัว หรือญาติมิตรอยู่ร่วมกันที่จะสามารถปรับทุกข์ดูแลกันและกันได้ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในภายหลังเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย จากสถานการณ์เหล่านี้จึงต้องมีมาตรการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราวโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของครอบครัว และความสัมพันธ์ในชุมชน (Social Networking) ร่วมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความเหงา และโดดเดี่ยวอันนำไปสู่อัตราการตายเดี่ยว (Lonely Death) หลังจากประสบภัยพิบัติได้ นั่นหมายความว่า การเตรียมรับมือทางด้านจิตใจและภาวะทางสังคมนั้นก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมกายภาพ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อวิเคราะห์จำนวนผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากอาคาร มีรายงานว่าสามารถรอดชีวิตได้จากการช่วยเหลือตนเองเป็นสัดส่วนมากที่สุด ถึงร้อยละ 34.9 รองลงมาคือรอดชีวิตจากการช่วยเหลือโดยสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 31.9 และโดยเพื่อนฝูงหรือเพื่อนบ้าน อีกร้อยละ 28.1 ในขณะที่อัตราการรอดชีวิตจากการช่วยเหลือโดยทีมกู้ภัย มีเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้น ข้อมูลนี้อ้างอิงจากรายงานแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ฮันชิง-อาวาจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2538 นั่นหมายความว่า "เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ อีกสิ่งที่สำคัญก็คือการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด" โดยไม่หวังพึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือส่วนกลาง เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นแล้ว หน่วยงานต่างๆ จะมีภารกิจที่ต้องดูแลรับผิดชอบอย่างหนักอย่างมากมายรออยู่ข้างหน้า
จากข้อมูลทั้งหมดเราเห็นได้ว่า จะต้องเสริมความแข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหาย หากลยุทธ์เพื่อบรรเทาผลกระทบ และวางแผนเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดภัย จึงจะแคล้วคลาดจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และคงจะเป็นการดีหากเราได้เตรียมพร้อมทั้งสภาพแวดล้อม ร่างกาย และจิตใจ สำหรับการรับมือกรณีฉุกเฉิน เพื่อเราสามารถช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือครอบครัวได้ และยังอาจเป็นที่พึ่งพาให้กับเพื่อนบ้าน และสังคมได้อีกด้วย
เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- สมาคมวิชาชีพการบริหารทรัพยากรอาคาร. คู่มือการจัดการฉุกเฉินสำหรับอาคารสำนักงานในเหตุการณ์แผ่นดินไหว – การเข้าพื้นที่ของผู้เช่า (30 มีนาคม 2568).
https://drive.google.com/file/d/1Dg9PEC5RDRy1gmXfL0gXPTGxx8EBpSWS/view?fbclid=IwY2xjawJcPRxleHRuA2FlbQIxMAABHS8G5gyr_NOpaJLwf3MWXmQ289hIrwQRhjKSTndUE9WXcffIWtACD05OPg_aem_6GxVDRjM9gYhWaYn37w3AA
- สมาคมวิชาชีพการบริหารทรัพยากรอาคาร. คู่มือการบริหารสถานการณ์วิกฤต กรณีเกิดแผ่นดินไหวสำหรับอาคารสาธารณะ เพื่อทีมผู้บริหารอาคาร (31 มีนาคม 2568).
https://drive.google.com/file/d/16xpcz_ryvs7O_E4uHVtJSnLQjQxYeIge/view?fbclid=IwY2xjawJcPbdleHRuA2FlbQIxMAABHVjviq9mNJfqqVKtVu9sOaFK_GUhfKpJFaqPW7EkzLHCfkWGkfa7SSx4kw_aem_2kWtm_hbgkGP8pnkBO4USg
- Japan Fire Research Association. Report on the Investigation into the Fires Caused by the 1995 Southern Hyogo Prefecture Earthquake (November 30, 1996).
- Japan Living Guide. Disaster preparedness: Stockpiling and emergency food in Japan (January 29, 2024).
https://www.japanlivingguide.com/expatinfo/emergencies/emergency-food/