Knowledge - RISC

GIS ช่วยเราคาดการณ์และป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร?

เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว

1639 viewer

"โลกของเราเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño)" องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2023 จนกระทั่งวันนี้เอลนีโญก็ยังคงอยู่​

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและมีอุณหภูมิอากาศสูงผิดปกติ แต่จากรายงานการคาดการณ์การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ประจำเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า เอลนีโญที่มีความรุนแรงนี้จะอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงพฤษภาคม 2024 และเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง (ENSO-neutral) จากนั้นจะเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญา (La Niña) ในช่วงเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 ประเทศไทยเราไม่ต้องกังวลกับปัญหาภัยแล้ง เหมือนปี 2023 ที่ผ่านมา แต่ในทางตรงข้าม ในหลายๆ พื้นที่ของเราอาจต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมสูงมากขึ้น​

เมื่อเรารู้แล้วว่าภัยน้ำท่วมอาจจะเกิดขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าบริเวณพื้นที่ไหนบ้างที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม​

หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากหลากหลายหน่วยงานทั่วโลก ด้วยการวิเคราะห์และการคาดการณ์เชิงพื้นที่ นั่นคือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือที่เราเรียกว่า GIS นั่นเอง​

แล้ว GIS คืออะไร?​

GIS คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล จัดการ วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบข้อมูลเชิงพื้นที่ สามารถช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์และรู้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นๆ ได้ ก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ​

เราสามารถรู้ได้ว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จากการนำข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญมาวิเคราะห์ เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน, แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (DEM), โครงข่ายลำน้ำ, สิ่งกีดขวางลำน้ำ และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ร่วมกับทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบแผนที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไปสามารถนำผลลัพธ์นี้ไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจ การเฝ้าระวัง หรือการทำงานเชิงรุก เพื่อเตรียมการวางแผนรับมือก่อนการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้ ​

อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ฤดูฝนกันแล้ว ตัวแปรสำคัญของปีนี้ คือ "ปรากฎการณ์ลานีญา" ที่อาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด หากเราเตรียมความพร้อมหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหรือไม่ เพื่อช่วยในการวางแผนและตั้งรับได้ทัน และช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย​

เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
https://www.cpc.ncep.noaa.gov/products/analysis_monitoring/lanina/enso_evolution-status-fcsts-web.pdf​
https://gistda.or.th/news_view.php?n_id=2883

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน