RISC

"ลานีญา" ผ่านไป...เรากำลังจะเข้าสู่ "เอลนีโญ"

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

20066 viewer

เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยหรือได้ยินกันมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่า ทั้ง 2 ปรากฏการณ์ กำลังส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราทุกคนมากขึ้น​

ก่อนอื่นเรามารู้จักปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญากันก่อน ว่าเกิดขึ้นจากอะไร?​

ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างกระแสน้ำและชั้นบรรยากาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (Eastern Tropical Pacific Ocean)  หรือที่เรียกว่า El Niño – Southern Oscillation (ENSO) ก่อให้เกิดสภาวะอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลัน​

โดยในสภาวะปกติ (ENSO-Neutral) บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก จะมีกระแสลมที่เรียกว่า ลมสินค้า (Trade Wind) ที่จะพัดนำกระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวของมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก มายังด้านตะวันตกของมหาสมุทร ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย เกิดฝนตก และในขณะเดียวกัน บริเวณด้านตะวันออกของมหาสมุทร จะมีกระแสน้ำเย็นไหลเข้ามาแทนที่กระแสน้ำอุ่นบริเวณแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ที่ถูกลมสินค้าพัดออกไป ทำให้แนวชายฝั่งประเทศเปรู เอกวาดอร์ และชิลี เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์​

แต่ถ้าหากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้น กระแสน้ำและชั้นบรรยากาศจะเกิดความแปรปรวน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจะเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรง และแนวชายฝั่งประเทศเปรู เอกวาดอร์ และชิลี สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล และในทางกลับกันเมื่อเกิดลานีญา ฝนจะตกหนักมากกว่าปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย และเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในบริเวณตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้​

สำหรับประเทศไทย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนานผิดปกติ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงกันยายนปี 2020 มาจนถึงกุมภาพันธ์ปี 2023 ซึ่งเป็นการเกิดปรากฏการณ์ลานีญาติดต่อกัน 3 ปี เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ทำให้ในช่วงที่ผ่านประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกได้เจอฝนตกหนักผิดปกติ จนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ รวมทั้งเกิดฝนทิ้งช่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรโดยตรง​

แต่ล่าสุด จากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ระบุว่า ปรากฏการณ์ลานีญาได้อ่อนกำลังลง จนทำให้อยู่ในสภาวะความเป็นกลาง หรือที่เรียกว่า ENSO-Neutral ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม และมีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงปลายปี 2023 ซึ่งจากรายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ได้ระบุไว้ว่า จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งออสเตรเลีย ​

ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญานั้น เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อยู่คู่กับโลกของเรามานานนับพันปี แต่ระยะเวลาการเกิดที่นานขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) หรือสภาวะโลกรวน ที่มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราทุกคน และทุกๆ ภาคส่วน จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยรักษาโลกใบนี้ ให้สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตอาศัยอยู่ต่อไปได้ในอนาคต​

เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
http://www.lesa.biz/earth/hydrosphere/elnino​
https://ngthai.com/science/26980/elnino-lanina/​
https://www.bbc.com/thai/articles/c13xz00lzpzo​
https://community.wmo.int/en/activity-areas/climate/wmo-el-ninola-nina-updates#archive​
https://www.cpc.ncep.noaa.gov/products/analysis_monitoring/enso_advisory/ensodisc.shtml​

แนะนำสำหรับคุณ

การประเมินพื้นที่ด้วย GIS ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี
Resilience

การประเมินพื้นที่ด้วย GIS ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ
Resilience

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?
Resilience

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
Resilience

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว
Resilience

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?
Resilience

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร
Resilience

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน
Resilience

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน
Resilience

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke
Resilience

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke