Love is in the Air อากาศดี สร้างสุขภาพดี เพื่อคนที่เรารัก
เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มาถึง บรรยากาศแห่งความรักก็เริ่มอบอวนไปทั่ว หลายคนเลือกจะมอบดอกไม้หรือให้ช็อกโกแลตที่หวานชื่นกับคนรัก แต่อีกหนึ่งสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ การได้ดูแลรักษาสุขภาพของเราและคนที่เรารักให้ดีที่สุด โดยเฉพาะคุณภาพของอากาศภายในบ้าน ที่ส่วนใหญ่เรามักจะมองข้ามเรื่องนี้กัน
รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วอากาศที่เราหายใจเข้าไป ภายในอาคารกลับมีมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกถึง 2-5 เท่า
มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามที่เงียบงัน มองไม่เห็น และแฝงตัวอยู่ในบ้านของเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง PM2.5, สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) และสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ จากการศึกษางานวิจัยหลายชิ้นได้เผยให้เห็นว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดี สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย ตั้งแต่การไอ จาม คัดจมูก ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง ส่งผลให้เกิดความไม่สบาย ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่ นอนหลับยาก นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายตามมา อย่างเช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคมะเร็งปอด (Lung cancer) ได้
คุณภาพอากาศภายในอาคารไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้อีกด้วย โดยมีงานวิจัยนึงที่ระบุว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีสามารถส่งผลต่อความเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
เราคงเห็นกันแล้วว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีนั้นส่งผลอย่างไรกับเรากันบ้าง การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพอากาศ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำและไม่ยุ่งยากหรือต้องใช้เทคโนโลยีแพงๆ เสมอไป เช่น...
• เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท: แม้จะเป็นช่วงที่มีฝุ่นละออง PM2.5 การเปิดหน้าต่างระบายอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพื่อลดการสะสมมลพิษอากาศในอาคาร แต่ต้องดูเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการระบายอากาศมลพิษในอาคาร ไม่ควรเปิดหน้าต่างทิ้งไว้นานเกินไป การเปิดหน้าต่างควรเปิดหน้าต่างอย่างน้อย 2 บานที่อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามหรือทะแยงกัน เพื่อให้อากาศมีทางเข้าและออก รวมทั้งการระบายอากาศด้วยการใช้พัดลม ก็จะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของอากาศภายในห้องให้มากขึ้น หรือถ้าจะลงทุนหน่อย ก็สามารถติดตั้งระบบเติมอากาศ ระบบแลกเปลี่ยนอากาศ (Energy Recovery Ventilator: ERV) พร้อมกับการติดแผ่นกรองฝุ่นก็ยิ่งทำให้ได้อากาศจากภายนอกที่ดีขึ้นเช่นกัน
• ทำความสะอาดเพื่อลดการสะสมของมลพิษที่อยู่ในบ้าน: กิจกรรมและสิ่งของที่อยู่ในบ้านสามารถก่อให้เกิดและสะสมของมลพิษในอากาศได้ ซึ่งนอกจากการระบายอากาศแล้ว การทำความสะอาดเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งการใช้สารทำความสะอาด ก็ควรเลือกสารทำความสะอาดที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง นอกจากนี้ยังต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศตามรอบ ล้างฟิลเตอร์เป็นประจำ หากมีเครื่องฟอกอากาศ ก็ควรเปลี่ยนฟิลเตอร์เครื่องฟอกอากาศตามรอบด้วยเช่นกัน
• เลือกเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสม: เครื่องฟอกอากาศถือเป็นหนึ่งในผู้ช่วยในการจัดการมลพิษต่างๆ ในบ้าน โดยเฉพาะฤดูที่มีฝุ่น PM2.5 ปริมาณสูง โดยการเลือกเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสม ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ขนาดห้อง, อัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ (CADR: Clean Air Delivery Rate), เทคโนโลยีการกรองอากาศ รวมทั้งประสิทธิภาพแผ่นกรองอากาศ ที่ควรเป็นแผ่นกรอง HEPA H13 ขึ้นไป เพื่อช่วยกรองฝุ่น PM2.5 และควรมีแผ่นกรอง Activated Carbon เพื่อกรอง VOC กลิ่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควรนำมาพิจารณาเช่นกัน เช่น เรื่องเสียงดัง, การเชื่อมต่อ Smart Home, การมีเซนเซอร์แสดงค่าคุณภาพ, การกินไฟ, การรับประกัน และการซ่อมแซม สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ควรพิจารณาเครื่องฟอกอากาศที่ได้รับการรับรองจาก Certified asthma & allergy friendly® โดยสามารถดูรายชื่อได้ที่นี่ https://www.asthmaandallergyfriendly.com/USA/products_categories/air-cleaners/
• ปลูกต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศ: แม้ต้นไม้จะไม่มีประสิทธิภาพในการฟอกอากศเทียบเท่าเครื่องฟอกอากาศ แต่ต้นไม้ถือเป็นตัวช่วยฟอกอากาศอีกทางแบบธรรมชาติ และยังให้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ กับเราได้ ทั้งทำให้ผ่อนคลาย เพิ่มความสวยงาม โดยสามารถดูรายชื่อฐานข้อมูลต้นไม้ฟอกอากาศได้ที่ https://risc.in.th/plants
• ตรวจเช็กค่าคุณภาพอากาศนอกบ้านและในบ้าน: การตรวจเช็กค่าคุณภาพอากาศจะช่วยให้เราเลือกตัดสินใจในการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ตามสภาพคุณภาพอากาศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เช่น ตอนนี้ควรเปิดหน้าต่างหรือไม่, สามารถออกกำลังกายนอกบ้านได้หรือเปล่า หรือควรออกกำลังกายในบ้าน เราสามารถตรวจเช็กค่าคุณภาพอากาศภายนอกได้ จากหลายเว็บไซต์ รวมทั้งแอปพลิเคชัน เช่น https://www.iqair.com/th-en/thailand/bangkok, https://aqicn.org/city/bangkok
ส่วนการตรวจเช็กคุณภาพอากาศภายในอาคาร หากเครื่องฟอกอากาศมีเซนเซอร์ตรวจวัดอยู่แล้ว สามารถดูค่าคุณภาพอากาศได้จากแถบสี หน้าจอ หรือแอปพลิเคชันของเครื่องฟอกอากาศได้ หรือซื้อเซนเซอร์วัดคุณภาพอากาศในอาคารมาตรวจวัดโดยเฉพาะก็ได้ โดยค่าคุณภาพอากาศในอาคารที่ควรตรวจวัด ได้แก่ ฝุ่น PM2.5, PM10, TVOC และ CO₂
เมื่อเราปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในบ้านของเรา เราจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ นอกเหนือจากการลดลงของปัญหาระบบทางเดินหายใจแล้ว เราอาจสังเกตเห็นว่า ตัวเรามีพลังงานมากขึ้น นอนหลับได้ดีขึ้น และรู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า ไม่ต้องรู้สึกระคายเคืองจมูก หรือระบบทางเดินหายใจ
อากาศที่สดชื่นสามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุขให้กับทุกคนในบ้านได้ การให้ความสำคัญกับอากาศที่สะอาดภายในบ้าน ก็เป็นอีกทางในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความรัก ความสุข และความเป็นอยู่ที่ดี ให้ทุกวันเปี่ยมไปด้วยพลังและความสุข
เนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, ActiveScore AP, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
World Health Organization. (2021). Global Air Quality Guidelines: Particulate Matter (PM2.5 and PM10), Ozone, Nitrogen Dioxide, Sulfur Dioxide and Carbon Monoxide. https://www.who.int/publications/i/item/9789240034228
World Health Organization. (n.d.). Household air pollution and health. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/household-air-pollution-and-health?gclid=CjwKCAiAiP2tBhBXEiwACslfnsFOiv6qpy221c2deEtZKBJxcV7wYg0HuCAtETa_lJq7tKkAhp6NRxoC4DkQAvD_BwE
Allergy Standards Limited. (n.d.). Portable air cleaners. Retrieved from https://www.asthmaandallergyfriendly.com/USA/products_categories/air-cleaners/portable-air-cleaners/
IQAir. (n.d.). Air quality in Bangkok. Retrieved from https://www.iqair.com/th-en/thailand/bangkok
World Air Quality Index Project. (n.d.). Air quality information for Bangkok. Retrieved from https://aqicn.org/city/bangkok