Modern Utopia
เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
Utopia (ยูโทเปีย) เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นโดยนักปรัชญามนุษยนิยมชาวอังกฤษ Sir Thomas More ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นภาษากรีก eu-topia ซึ่งหมายถึง Good Place (สถานที่ที่ดี) และเสียงของคำพ้องกับคำ ou-topia ซึ่งหมายความว่า No place (ไม่มีที่ใด) โดยแสดงเป็นเกาะแห่งจินตนาการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมอังกฤษร่วมสมัย เพื่อเสนอรูปแบบทางเลือกสู่สังคมสมบูรณ์แบบ อาทิชุมชนเมืองจะไม่มีชุมชนแออัด ทุกคนจะมีบ้านที่มีสวนและสามารถปลูกผักสำหรับแต่ละครอบครัวได้ แนวความคิดยูโทเปีย มีผลกับความคิดในเชิงมโนทัศน์และได้แพร่หลายไปในหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งทำให้เกิดการขยายแนวความคิดเชิงอุดมคติในเวลาต่อมา
รูปแบบยูโทเปียที่แตกต่างกัน ในช่วงยุคกลาง ยูโทเปียถูกสื่อเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ซึ่งความปรารถนาทางโลกทั้งหมดจะได้รับการเติมเต็มหรือทำให้บรรลุผลได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 "ความรอด" ถือเป็นอุดมคติแห่งความสมบูรณ์โดยผ่านความก้าวหน้าของยุคสมัยใหม่ (modern progress) โดยมีผู้เสนอแนวคิดที่มีชื่อว่า Arcagrup (the art-architects collective) เป็นการนำเสนอเรือลำหนึ่ง ที่ทำขึ้นจากวัสดุหมุนเวียนมาใช้ใหม่ และพลังงานต่างๆจากธรรมชาติมาใช้ โดยเรือลำนี้คล้ายกับเรือของ โนอาห์ (Noah's arc) ที่บรรทุกความฝัน ความหวังจากการสูญสิ้นสู่ความรอด
หลังการปฏิวัติทางการเมืองและอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 Ebenezer Howard ชาวอังกฤษผู้ซึ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเห็นปัญหาจากมลพิษและความแออัดในเมือง ทำให้ Howard ได้เสนอแนวคิดแบบอุดมคติ (Utopia) ขึ้นที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์แต่เป็นการยากที่จะนำมาปฏิบัติจริงที่เรียกว่า Garden Cities of Tomorrow เป็นแนวความคิดในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของชุมชนเมืองและเกษตรกรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่ ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตที่ดี
Ebenezer Howard เสนอแนวคิดการสร้างเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีแบบชนบทในรูปแบบแผนภูมิแม่เหล็ก 3 ขั้ว ที่อธิบายทฤษฎีทัศนียภาพเมือง โดยประกอบด้วยแม่เหล็กสองขั้วของ เมืองและชนบท และขั้วที่สามคือข้อดีของเมืองเมื่อรวมกับชนบท ซึ่งสามารถอธิบายแนวความคิดในการแบ่งเขตเมืองและเขตชนบท โดยมีพื้นที่สีเขียวและเกษตรกรรมกั้นระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นสภาพแวดล้อมของเมืองที่ไม่แออัดและไม่มีชุมชนแออัด ไร้มลพิษในอากาศ ซึ่งในสมัยต่อมาแนวความคิดนี้ได้แพร่หลายในการวางผังเมืองไปประเทศอื่นๆทั่วโลก
Modern Utopia ของ J.C. Hallman ในหนังสือ In utopia ได้พูดถึงโครงการ New Songdo City ซึ่งมีความน่าสนใจในเชิงแนวคิดอุดมคติที่มีมาแต่อดีต โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2015 พื้นที่การก่อสร้าง 1,500 ไร่ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยประชากร 1 ใน 3 ของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย สามารถเดินทางมาถึงสนามบินอินชอนภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง
New Songdo City ออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองแห่งการเชื่อมต่อ Connected Community โดย CISCO และบริษัท United Technologies ใช้พื้นที่กว่า 6 ตารางกิโลเมตร ในการพัฒนาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายประสิทธิภาพสูง เพื่อรองรับตั้งแต่กลุ่มธุรกิจบริการขนาดเล็ก จนถึงบริษัทวิจัยเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลก ให้กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่มีข้อมูลทุกอย่างอาทิเช่น ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ การจราจร ที่เชื่อมต่อบนเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด และเน้นย้ำการออกแบบภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการวางผังเมืองที่เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่โดยการขนส่งที่ทันสมัย ประกอบกับการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในอาคาร บนพื้นฐานโครงสร้างของเมืองที่มีการแบ่งพื้นที่ของโซนการใช้งานอย่างดี การวางโซนธุรกิจ แยกออกจากที่อยู่อาศัย และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ อาทิโรงเรียน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า พื้นที่โล่งขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตัวอย่างแนวคิดในโครงการ New Songdo เช่น
• การมีพื้นที่เปิด 40% ของเมืองเพื่อลดความแออัด
• การออกแบบระบบขนส่งที่เข้าถึงทุกพื้นที่ เช่น รถใต้ดิน รถเมล์
• การวางเส้นทางจักรยานเชื่อมต่อกัน 25 กิโลเมตร
• จุดบริการหัวจ่ายพลังงานสำหรับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
• การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานในเมือง
• การนำของเหลือมารีไซเคิลในงานก่อสร้าง
• ระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฎิกูล
• ใช้น้ำทะเลในคลองเซ็นทรัลพาร์ค
• อาคารที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน หลังคาสีเขียว เพื่อลดการใช้พลังงานและแหล่งความร้อน
การพัฒนาแนวคิด “ยูโทเปีย”นั้นยังคงมีการพัฒนาตามกาลเวลา เพื่อเผยแพร่แนวคิดเชิงอุดมคติของการอยู่อาศัยที่ดี ที่สามารถมีอยู่จริงได้บนโลกใบนี้หรือที่ไหนซักแห่ง ที่สามารถสะท้อนแนวความคิดในอุดมคติ ที่เกิดจากการเรียนรู้จากความล้มเหลวเพื่อสร้างแนวคิดแห่งศรัทธา ต่อไปตราบเท่าที่ผู้คนยังคงใช้ความคิดและมีความหวังสู่การอยู่ในโลกที่สวยงามใบนี้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
http://www.mbanewsthailand.com/2011/07/songdo/
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=28592
http://www.reocities.com/midarticle/newpage65.html
http://sixties-l.blogspot.com/2010/08/modern-day-adventures-in-utopian-living.html
http://www.salon.com/2010/08/15/in_utopia_interview/
Story by ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ และ ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ (ฝ่ายวิจัยและพัฒนา กลุ่มบริษัทดีที)