PM2.5 สูงแบบนี้ แค่เครื่องฟอกอากาศในบ้านอาจไม่พอ
เขียนบทความโดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 10 เดือนที่แล้ว
รู้หรือไม่ ในช่วงที่มลพิษทางอากาศสูง เราคิดว่าการหลบอยู่ในอาคารและเปิดเครื่องฟอกอากาศจะช่วยลดผลกระทบได้ แต่....อาจจะไม่เพียงพอ!!!
นั่นก็เพราะในอาคารหรือที่อยู่อาศัยของเรา ไม่สามารถป้องกัน ฝุ่น PM2.5 หรืออนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอนุภาคเหล่านั้นสามารถเคลื่อนตัวผ่านช่องประตูหรือหน้าต่างได้สบาย แม้ว่าจะมีการปิดสนิทแล้วก็ตาม จริงอยู่ที่เครื่องฟอกอากาศนั้นสามารถดักจับ PM2.5 ได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าคงไม่เพียงพอ เพราะอนุภาคเหล่านั้นยังคงสามารถไหลเข้ามาในอาคารผ่านช่องต่างๆ ได้อยู่เรื่อยๆ
เจอปัญหาแบบนี้ แล้วเราจะแก้อย่างไร?
วิธีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การทำให้อาคารหรือบ้านที่เราอาศัยอยู่ มีความดันอากาศมากกว่าความดันอากาศภายนอก หรืออยู่ในสภาวะความดันบวก หรือ “แรงดันเป็นบวก” (Positive Pressure Environment) โดยตามหลักการแล้ว ความดันอากาศที่มากกว่า จะมีแรงดันเคลื่อนอากาศไปยังพื้นที่ที่มีความดันอากาศน้อยกว่า ซึ่ง PM2.5 และอนุภาคเชื้อโรคอื่นๆ ที่มีอากาศเป็นตัวกลางในการเคลื่อนที่จะถูกดันออก ไม่สามารถเข้ามาในอาคารได้นั่นเอง
ในทางทฤษฎีนั้น ระบบความดันบวกหรือระบบแรงดันบวก จะใช้ควบคู่ไปกับระบบเติมอากาศจากภายนอกเข้ามา (Fresh air) และผ่านไส้กรองอากาศ (Filter) HEPA H13 ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ ซึ่งเงื่อนไขในการสร้างสภาวะอากาศที่มีแรงดันบวกมีตามนี้...
• ปริมาณอากาศเข้า (Supply air) แยกตามประเภทของพื้นที่ใช้สอยตามมาตรฐานการระบายอากาศ
*ข้อกำหนดยึดตามมาตรฐานการระบายอากาศ Minimum Ventilation Rates in Breathing Zone เพื่อคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่าง อาคารอยู่อาศัยทั่วไปกำหนดให้มีอัตราการหมุนเวียนอากาศ (Air Change Rate) 0.35-1 ACH และไม่น้อยกว่า 15 cfm/person โดยในห้องนอนแนะนำ 2-4 ACH และห้องนั่งเล่นแนะนำ 3-6 ACH กรณีป้องกันการติดเชื้อโรคร่วมด้วย เป็นต้น
• ปริมาณอากาศออก (Exhaust air) ให้มีปริมาณของอากาศน้อยกว่าปริมาณอากาศเข้า 10-15%
• ความแตกต่างของความดันอากาศในอาคารมากกว่าภายนอก 2.5 Pa ขึ้นไป (หากเพิ่มความแตกต่างถึง 8 Pa ถือว่าเป็นความดันอากาศบวกอย่างสมบูรณ์ที่สามารถป้องกันอนุภาคต่างๆ ได้)
การเติมอากาศและการเพิ่มความดันอากาศภายในห้องให้เป็นบวกนั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับตัวเราแล้ว ยังช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากเราหายใจตลอดเวลาให้เจือจางลงอีกด้วย ทำให้คุณภาพอากาศภายในห้องดีขึ้น
ในวันนี้ เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมาของ "ฤดูฝุ่น" ได้ ซึ่งด่านป้องกันสุดท้ายของเราก็คือ "บ้าน" หากมีการออกแบบระบบระบายอากาศอย่างเข้าใจและถูกวิธี จะทำให้เราอยู่บ้านได้อย่างปลอดภัย และสุขภาพดี ส่วนเวลาที่ออกนอกบ้านเมื่อไร ก็อย่าลืมใส่หน้ากากป้องกัน PM2.5 กันด้วยนะ
เนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ TREES-A, Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://acat.or.th/download/acat_or_th/V26-(2).pdf
https://commercialairfiltration.co.uk/blogs/news/positive-and-negative-pressure-rooms#:~:text=Air%20pressure%20in%20the%20room,ideally%20should%20be%208%20Pa.
https://www.tmn.co.th/download/tmn_co_th/CL_Cooling_Load_Calc/Calculations-of-Ventilation-Rate-According-to-ASHRAE-Standard-62-1.pdf