จะปีนี้หรือปีหน้า ประเทศไทยก็จะเจอวิกฤตภัยแล้ง
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
เข้าฤดูฝนแล้ว...แต่ทำไมกลับฝนไม่มาตามนัด?
แน่นอนว่าหลายคนอาจจะแปลกใจ เพราะโดยปกติ เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปี เราย่อมรู้ดีว่า กำลังเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ปีนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น ฤดูฝนมาช้า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง จนนำไปสู่ “ภัยแล้ง”
สาเหตุที่ฤดูฝนผิดปกติ และทำให้เราประสบภัยแล้ง คงหนีไม่พ้นปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่รุนแรงมากกว่าปกติ ผลพวงจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งจากบทความก่อนหน้านี้ (http://bit.ly/3FROVvF) ได้บอกแล้วว่า เราจะเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยาวนานขึ้น
จากรายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) และ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักร UK Met Office ระบุว่าในปี 2024 ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ก็ยังคงอยู่กับเรา และแน่นอนว่าทั่วโลกก็จะประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน
“ภัยแล้ง” เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำจากปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในสภาวะปกติ ส่งผลให้ความชื้นในดิน ปริมาณน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินลดลงจนแห้งแล้ง มีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่รู้คุณค่า รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทำลายแหล่งต้นน้ำ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่า ป่าไม้ พืชพรรณในธรรมชาติล้มตายจากการขาดแคลนน้ำ และยังส่งผลต่อการดำรงชีวิตของเราเอง
สิ่งสำคัญที่ภาครัฐ ผู้วางแผนพัฒนาเมือง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งเน้นในการวางแผนรับมือกับภัยแล้งระยะยาว ก็คือ การบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำ และการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยในการกักเก็บน้ำ และผลิตน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค รวมถึงประกอบกิจกรรมทางการเกษตร มาใช้อย่างจริงจัง
ฟังดูเหมือนไกลตัวและทำอะไรไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราทำได้!!! ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่บุคลากรรัฐ หรือผู้พัฒนาเมือง แต่เราต้องไม่ลืมว่า เราคือ 1 ในประชากรโลกที่ต้องใช้น้ำในการดำรงชีวิต ซึ่งน้ำจืดเป็นทรัพยากรโลกที่มีอยู่เพียงแค่ร้อยละ 1 จากปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลก เราจึงควรตระหนัก รู้คุณค่าของน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่สำหรับเราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต่อไป
เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.tmd.go.th/media/climate/seasonal_announce/rainy-season-2566-announcement.pdf
https://www.cpc.ncep.noaa.gov/products/analysis_monitoring/lanina/enso_evolution-status-fcsts-web.pdf
https://www.cnbc.com/2023/02/10/el-nino-earth-could-overshoot-1point5-degrees-for-the-first-time-in-2024.html
http://ndwc.disaster.go.th/cmsdetail.ndwc-9.283/26675/menu_7525/4214.1/
https://ngthai.com/environment/47937/drought/
https://ngthai.com/science/30230/hydroresourcestory/