ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเมือง ฟื้นฟูชีวิตเมือง
เขียนบทความโดย RISC | 5 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
การส่งเสริมให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับธรรมชาติ และร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เกิดความสัมพันธ์กันระหว่าง Social - Environment - Economy คือแนวทางการอนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์ ที่มนุษย์เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับจากธรรมชาติ เมื่อเราฟื้นฟูธรรมชาติให้ชุมชน สภาพแวดล้อมนั้นก็จะส่งเสริมให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย
การพัฒนาของเทคโนโลยีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมและบริบทต่างๆ ถูกปรับเปลี่ยนไป เกิดอาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ถนน ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อความสะดวกสบายให้กับชีวิตของเรา โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตชุมชนเมืองต่างๆ แต่ในขณะที่เรากำลังพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้น ก็เป็นเวลาเดียวกับที่เรากำลังทำให้พื้นที่ธรรมชาติค่อยๆ หายไปด้วยเช่นกัน เกิดเป็นบริบทแบบเมือง ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นเป็นแบบคนเมือง เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ในบ้านของตัวเอง ไม่มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ และไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อน จนถึงระยะเวลาหนึ่งเมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เริ่มแสดงปัญหาที่เป็นผลเสียออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น ทั้งระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปและมลพิษที่มากขึ้น บางแห่งยังเกิดภัยสังคมเนื่องจากพื้นที่บางจุดไม่มีคนเข้าไปใช้งาน กลายเป็นมุมอับของชุมชน จึงทำให้หลายเมืองเริ่มคิดถึงการปรับปรุงพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร อย่างที่เกิด Revitalization Project ขึ้นในหลายๆ เมือง การ revitalization ก็คือการปรับปรุงพื้นที่ที่ขาดการใช้งานหรือพื้นที่ที่ถูกทำลาย จุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูชีวิตให้กับพื้นที่นั้นๆ โดยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง Environment, Social, Economy ซึ่งก็คือ concept ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เราเริ่มได้ยินกันบ่อยจนคุ้นหู
โครงการ Cheonggyecheon Stream ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับปรุงพื้นที่ที่ถูกสร้างเป็นทางคมนาคมเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเมือง แต่ทำให้เกิดชุมชนแออัด มีปัญหาน้ำเน่าเสีย รัฐบาลจึงทำโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ใหม่ เปลี่ยนจากทางด่วนเป็นสถานที่พักผ่อนริมสองฝั่งคลองชองเกชอนขึ้น ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ผ่านตัวเมือง หลังจากปรับปรุงเสร็จสิ้นทำให้พื้นที่บริเวณนั้นเกิดประโยชน์มากมาย มีความสัมพันธ์กันระหว่าง
• Social : เป็นพื้นที่กิจกรรมระหว่างครอบครัว ชุมชน รวมไปถึงนักท่องเที่ยว และเป็นพื้นที่พักผ่อนส่วนรวมของผู้คนทุกวัยทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับคนในชุมชน
• Environment : ระบบนิเวศเริ่มกลับมาดีขึ้น ช่วยลดมลพิษ และน้ำที่เริ่มเน่าเสียก็มีระบบบำบัดที่ดี สัตว์ต่างๆ เริ่มเข้ามาอาศัย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน
• Economy : พื้นที่บริเวณนั้นมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นและสร้างรายได้ให้กับร้านค้าทั้งสองฝั่งคลอง โดยที่ไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม
นอกจากโครงการ Cheonggyecheon stream แล้วยังมีอีกหลายๆ โครงการทั่วโลก เช่น Guthrie Green Park, Oklahoma, USA / New York City’s High Line Park, New York, USA / Namba Park, Osaka, Japan / Clyde Waterfront, Scotland, UK เป็นต้น ที่ทำการฟื้นฟูพื้นที่ โดยแต่ละชุมชนก็จะต้องพัฒนาไปตามบริบทและวิถีชีวิตเฉพาะของตนเองด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย เป็นการใช้ชีวิตที่พึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมไปกับธรรมชาติ พร้อมๆ กับรูปแบบวิถีชีวิตตามยุคสมัยและเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าการอนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์นั้น ก็คือการสร้างความสมดุลระหว่างรูปแบบของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตามความต้องการของมนุษย์ ที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ผู้เขียน: พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา (Panpisu Julpanwattana ) R&D