RISC

อย่าทำแบบนี้กับ "กระรอก"

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

7804 viewer

ในบรรดาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเมืองนอกจากนกแล้ว ก็ยังมีสัตว์ตัวเล็ก แสนซน หน้าตาน่ารักอย่าง “กระรอก” อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรามักจะพบได้บ่อย ตามพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะๆ หรือตามสวนสาธารณะ​

เดิมทีกระรอกนั้นอาศัยอยู่ในป่า สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ธรรมชาติของกระรอกจะอาศัยตามโพรงไม้ ซึ่งในเมืองไทยเรามีกระรอก 3 กลุ่ม คือ กระรอกต้นไม้ กระรอกบิน และกระรอกดิน รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ชนิด โดยชนิดที่พบมากในกรุงเทพ คือ กลุ่มของ "กระรอกต้นไม้" นั่นเอง​

กระรอกเป็นสัตว์ฟันแทะ จึงมีพฤติกรรมและนิสัยที่ชอบแทะลูกไม้ เมล็ดพืช หรือกัดกินกิ่งไม้ ซึ่งประโยชน์ของกระรอกในธรรมชาตินั้นมีมากมาย ทั้งช่วยให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืช และช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช แต่หากมีปริมาณเยอะเกินไป ก็อาจส่งผลต่อพืชพันธุ์บางชนิดได้ บางครั้งอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชนได้ โดยในปัจจุบันพบว่า ปริมาณกระรอกในธรรมชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ทำให้มีแหล่งอาหาร และแหล่งอาศัยที่อุดมสมบูรณ์​

กระรอกเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์ น่ารัก มีความอยากรู้อยากเห็น ขี้สงสัย และด้วยท่าทางเหล่านั้นของกระรอกจึงทำให้ใครหลายคนหลงรัก และมักนำอาหารไปให้กระรอกในธรรมชาติ ซึ่งการกระทำเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของสัตว์ในระยะยาวได้ เพราะกระรอกจะเกิดความเคยชิน ไม่หาอาหารเองและรออาหารจากมนุษย์เพียงอย่างเดียว จนอาจทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลได้ ซึ่งในความเป็นจริง อาหารตามธรรมชาตินั้นก็เพียงพอสำหรับเหล่ากระรอกอยู่แล้ว​

เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC