เรารู้ได้อย่างไร? ว่าเข้าฤดูฝน
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
ถึงเวลาพกร่มและอุปกรณ์กันฝนติดตัวกันได้แล้ว หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้พื้นที่ในประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ไปจนถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่จะสิ้นสุดในเดือนมกราคมปีหน้า แต่...เอะใจอะไรมั้ยครับ?
เราจะรู้ได้อย่างไรและมีเกณฑ์อะไร? ที่บอกว่าเมืองไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว
จริงๆ แล้ว เกณฑ์หรือสิ่งที่บอกว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนนั้นมีอยู่ 3 ข้อ นั่นก็คือ...
1. มีฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
2. ลมที่ระดับความสูงในช่วง 3.5 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือฝั่งทะเลอันดามันต่อเนื่องกัน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งลมที่ว่าจะนำความชื้นเข้ามาสู่ประเทศไทย
3. ลมที่ระดับความสูงจากพื้น 5 กิโลเมตรขึ้นไป พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน
หลายคนคงมีความรู้สึกว่า ทำไมปีนี้ถึงมีฝนตกมามากกว่าปกติ? ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมประเทศไทยปี พ.ศ.2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน มีค่าอยู่ที่ 352.0 มิลลิเมตร ในขณะที่ปริมาณฝนสะสมปกติประเทศไทย (ข้อมูลเฉลี่ย 30 ปี) ในช่วงเวลาเดียวกันจะมีค่าอยู่ที่ 232.5 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่าปี พ.ศ.2565 มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 119.5 มิลลิเมตร นั่นก็หมายความว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีฝนมากกว่าปกติ
ดังนั้น การติดตามข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เราได้รับรู้สถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญคือ สามารถเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม