RISC

ทำไมปีนี้ฝุ่น PM2.5 ถึงมาเร็ว?

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

6485 viewer

เชื่อว่าหลายคนอาจจะดีใจที่อยู่ๆ ลมหนาวก็พัดมาให้เราสัมผัสกันอย่างรวดเร็ว แต่นั่น...ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่า “ฤดูของฝุ่น” ได้เริ่มขึ้นแล้ว ​
แล้วทำไมปีนี้ฝุ่น PM2.5 ถึงมาเร็วกว่าปกติ?

นั่นก็เพราะอิทธิพลจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้ทำให้ลมมรสุมตัวการทำให้เกิดฝนสลายไป และกลายเป็นลมคงตัว ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้ฤดูฝนได้จบลง และเป็นการเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัว ส่งผลให้ค่าฝุ่นสูงขึ้นตามมาด้วย

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า หลักๆ ฝุ่นมาจากไอเสียรถยนต์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องจักร อุปกรณ์ในครัวเรือน หรือการเผาในที่โล่ง พอบวกกับอากาศที่หนาว และลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่หนาแน่น ลมระบายอากาศได้ยาก ก็ทำให้ฝุ่นปกคลุมไปทั่วเมือง

ฝุ่น & อากาศหนาว & ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร?

โดยปกติ อากาศจะเย็นขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความสูง แต่อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว จะมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้ามาปกคลุม ทำให้ระดับใกล้พื้นดินมีอากาศเย็น และคลายความร้อนได้เร็วกว่าปกติ นอกจากนี้บริเวณเขตเมืองยังมีรูปแบบการเรียงตัวกันของอาคารสูงที่หนาแน่น ลมพัดผ่านไม่สะดวก จึงเกิดเป็นลมนิ่ง อาคารสูงมากมายในเมืองที่รับความร้อนเต็มที่ในตอนกลางวันก็จะคายความร้อนในตอนกลางคืน ทำให้อากาศรอบอาคารเย็นลง แต่...อากาศที่อยู่เหนือตัวเมืองขึ้นไปร้อนกว่า จึงก่อให้เกิดชั้นอากาศอุ่นไปแทรกอยู่ระหว่างกลางอากาศที่เย็นกว่าทั้งด้านล่างใกล้พื้นดินและด้านบนในลำดับชั้นของอุณหภูมิของอากาศ เกิดความผิดปกติกลายเป็น “ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน” (Temperature inversion) นั่นเอง

ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน หรือ Temperature inversion อาจจะฟังดูยากไป...ให้ลองนึกภาพง่ายๆ เหมือนเมืองกำลังมีฝาชีครอบอากาศเปื้อนฝุ่นเอาไว้ในระดับพื้นดิน ทำให้ฝุ่นและมลพิษที่เราปล่อยในแต่ละวันลอยขึ้นไปสู่บรรยากาศชั้นบนไม่ได้และวนเวียนอยู่ในนั้น โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนจะหนักสุด เราจึงมักพบสภาพที่ฝุ่นละอองในเมืองมีปริมาณมากในช่วงกลางคืนไปจนถึงเช้า และจะเริ่มลดลงในช่วงบ่าย (ดูปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันเพิ่มเติมได้ที่ https://fb.watch/gihsWQe92n/)

แต่สิ่งนึงที่เราต้องยอมรับ ก็คือ การที่เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันถี่ขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่เราเป็นคนก่อขึ้นมา ซึ่งหลายเมืองทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหานี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากประเทศไทย จนอาจกลายเป็นเหตุการณ์มลพิษทางอากาศที่รุนแรง (Extreme air pollution events) ได้ เช่น เมื่อเกิดไฟป่า หรือเหตุการณ์สารเคมีระเบิด หากเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันขึ้นด้วย ก็จะทำให้มลพิษอากาศสะสมปริมาณสูงมาก จนส่งผลต่อสุขภาพของคนในบริเวณนั้นได้

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาและรับมือที่สามารถทำได้ ก็มีตั้งแต่การประเมินและระบุแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ เพื่อเฝ้าระวัง และเข้าไปตรวจสอบสม่ำเสมอ พร้อมทั้งวิเคราะห์หาแผนในการจัดการ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Low-Carbon) ไปจนถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) เพื่อลดสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน

เนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส / ผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED®AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก
ฤดูกาลของประเทศไทย – กรมอุตุนิยมวิทยา https://www3.tmd.go.th/info/%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2 ​

Climate change has led to more temperature inversions and the rise of 'super pollution events' ​
https://www.greenbiz.com/article/climate-change-has-led-more-temperature-inversions-and-rise-super-pollution-events

100 European cities take up the challenge to become carbon neutral by 2030 ​
https://www.climate-kic.org/news/100-european-cities-take-up-the-challenge-to-become-carbon-neutral-by-2030/ ​