RISC

รู้ทัน รู้ไว ห่างไกลโรคสมองเสื่อม

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

964 viewer

รู้หรือไม่ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีประชากรผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปีกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% จากประชากรไทยทั้งประเทศ​

อย่างที่เราทราบกัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อผู้สูงวัยยิ่งเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะตามมาด้วยกันเสมอคือโรคในผู้สูงวัย ซึ่งหนึ่งในโรคที่พบเจอได้มากที่สุด และเป็นโรคที่เราจะมาคุยกันวันนี้ ก็คือ “โรคอัลไซเมอร์” หรือ "โรคสมองเสื่อม"​

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยมากที่สุด โดยผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีปัญหาทางร่างกายในหลายๆ ด้าน เช่น​
• ด้านสมาธิ: ผู้ป่วยจะมีอาการสมาธิจดจ่อน้อยลง ทำให้ง่ายต่อการลืมกิจกรรมที่กำลังทำอยู่หรือเพิ่งจะทำไป เช่น ลืมว่าวางแว่นสายตาไว้ที่ไหน ลืมว่าทำอาหารไว้อยู่ หรือลืมว่ากำลังซักผ้าอยู่​
• ด้านความจำ: ผู้ป่วยจะมีปัญหาการหลงๆ ลืมๆ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น ลืมว่ามีใครมาเยี่ยมเมื่อวาน ลืมว่าเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่คืออะไร หลงทางในสถานที่ที่ไปเป็นประจำ ทวนคำถามหรือบทสนทนาเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีมีปัญหาด้านการสื่อสาร และการใช้ภาษา เช่น ไม่สามารถเลือกใช้คำหรือประโยคที่ถูกต้องได้ พูดไม่รู้เรื่องและฟังไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถแปลความหมายของบทสนทนาได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารเป็นประโยคหรือเป็นคำ​
• ด้านความสามรถ: โดยผู้ป่วยมักจะสูญเสียความสามารถพิเศษที่เคยทำได้ในการใช้ชีวิตไปด้วยเช่น ความสามารถในการอ่านหรือฟังนิสัย การจับใจความ การร้องเพลง การเต้น หรือแม้แต่การวาดภาพ​
• ด้านการตัดสินใจ: ผู้ป่วยจะขาดความสามารถในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ  ทำให้สามารถตัดสินใจได้ช้าลง หรือไม่สามารถตัดสินใจเรื่องใดๆ ได้เลย รวมไปถึงความคิดและการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนก็จะทำไม่ได้เช่นกัน​
• ด้านการเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม: ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการเข้าใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัน เดือน ปี เวลาต่างๆ เรื่องของตัวเลขและการคำนวนหรือเรื่องของการรับรู้ทิศทางไป​
• ด้านพฤติกรรม: ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ อารมณ์ร้าย หรือวิตกกังวล ซึมเศร้า หงุดหงิด และฉุนเฉียวได้ง่ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น​

จะเห็นได้ว่าอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ เกิดจากการที่สมองทำงานผิดปกติ และในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีที่จะรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ มีแต่บรรเทาและตระหนักรู้ ว่าเราหรือญาติผู้ใหญ่ของเรากำลังมีภาวะการเสื่อมถอยของสมอง และควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการสังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อประเมินตัวเองหรือญาติผู้ใหญ่ใกล้ตัวเรา โดยมีวิธีการสังเกตง่ายๆ ที่จะขอแนะนำ คือ คนที่จะป่วยจะเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ลืมข้าวของ ลืมบทสนทนาที่กำลังพูดคุยหรือเรื่องที่เพิ่งพูดคุยไปเมื่อไม่นาน ลืมบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือมีอาการลืมบกพร่องในการทำกิจกรรมพื้นฐานต่างๆ ในชีวิต นึกกิจกรรมหรือวิธีการทำกิจกรรมเหล่านั้นไม่ออก อารมณ์เปลี่ยนไป มีอารมณ์ซึมเศร้า เฉื่อยชา หรือโมโหง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ​

ถึงแม้ว่าโรคนี้จะฟังดูน่ากลัวมาก แต่ถ้าเรารู้ตัว รู้ทัน รู้ไว เราก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหมั่นร่วมกันสังเกต ระมัดระวัง ดูแลกันและกัน เพื่อที่จะได้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์กันนะ​

เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก mayoclinic, What is Alzheimer’s Disease จาก Alzheimer’s Association​

แนะนำสำหรับคุณ