10 จุดอ่อนของบ้าน ทำร่างพัง จิตป่วยไม่รู้ตัว (1)
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
บ้านก็ดูแลอย่างดี เฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อเข้าบ้านก็มีคุณภาพ แต่ทำไม...อยู่ๆ ไป กลับรู้สึกป่วยง่าย เบื่ออาหาร เครียด หรือซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
นั่นก็เพราะว่าบ้านที่เราอยู่ ยังมีอะไรที่อาจส่งผลต่อสุขภาวะของเรา งั้นวันนี้เราลองมาสำรวจ 5 ใน 10 จุดอ่อนที่อยู่ในบ้านของเรากัน ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราป่วยทั้งทางกายและทางใจ…
1. สีทาบ้านทำให้ป่วย
อยู่ในบ้านเฉยๆ ไม่ได้ออกไปไหน แต่ทำไมรู้สึกแสบตา แสบจมูก หรือวิงเวียนศีรษะ สาเหตุนั้นอาจมาจากสีที่ใช้ทาบ้านเราก็ได้
อย่างที่เรารู้กัน ส่วนประกอบของสีทาบ้านจะมีค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound) หรือ VOCs อยู่ในนั้น ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มมีปัญหา ระบบประสาทถูกทำลาย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด แสบตา หายใจลำบาก ร้ายกว่านั้น ถ้าได้รับในปริมาณมากๆ อาจถึงขั้นหมดสติ และถ้าสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เยื่อหุ้มปอดถูกทำลายในที่สุด
สีที่ดีต่อสุขภาพนั้น ต้องมีส่วนผสมที่ลดปริมาณสิ่งปนเปื้อนจากวัสดุประสาน (Adhesive) วัสดุยาแนว (Sealant) รองพื้น สี และวัสดุเคลือบผิวภายในอาคารที่มีกลิ่นแรง สร้างความรำคาญและเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งควรเลือกใช้วัสดุที่มีการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายต่ำ (Low-VOCs) โดยค่าของ VOCs มี 2 ระดับที่แนะนำ คือ Low VOCs = 5-50 g/l และ Zero VOCs = น้อยกว่า 5 g/l
เมื่อรู้แบบนี้ ก็อย่าลืมดูค่า VOCs ก่อนซื้อสีมาทาบ้านกันนะ
2. เลือกแสงไฟผิด ก็เบื่ออาหารได้
ส่วนใหญ่ไฟในบ้านเรามักจะใช้ไฟแบบ Daylight หรือ Cool White เพราะจะให้แสงโทนสีขาวที่ทำให้มองเห็นอะไรในบ้านชัด แต่สำหรับพื้นที่ที่ใช้นั่งรับประทานอาหาร แสงสีขาวอาจทำให้อาหารมีสีซีดจาง ดูไม่น่ารับประทานจนเกิดอาการเบื่ออาหารได้
ไฟที่เหมาะกับพื้นที่รับประทานอาหาร จึงเป็นไฟแบบ Warm White ที่ให้โทนสีส้ม ซึ่งมีค่าอุณหภูมิสีของแสง (The color temperature) 3000 K ช่วยเน้นให้สีของอาหารดูน่ารับประทาน กระตุ้นความอยากอาหารให้กับเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวของเราได้เป็นอย่างดี
นอกจากระดับค่าอุณหภูมิสีของแสงแล้ว ก็ยังมีค่าดัชนีชี้วัดความถูกต้องของสี (colour rendering index) และค่าการกระพริบของหลอดไฟ (flicker) ซึ่งค่าดัชนีความถูกต้องของสีสูงจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของพื้นที่โดยรอบที่เราอยู่ (perception of space) ถ้าแสงที่มีค่าดัชนีความถูกต้องของสีต่ำ จะทำให้เราแยกความแตกต่างระหว่างวัตถุหรือการรับรู้ของพื้นที่โดยรอบผิดเพี้ยนไป โดยตรวจสอบค่าดัชนีความถูกต้องของสีที่หลอดไฟได้จากการดูค่า CRI ยิ่งค่าสูงก็ยิ่งดี ซึ่งหลอดไฟทั่วไปจะมีค่า CRI อยู่ที่ 70-80 แต่สำหรับการออกแบบแสงที่ต้องการมาตรฐานสูง ค่า CRI ควรอยู่ที่ 95-100 หรือไม่ควรต่ำกว่า 90
3. โคมไฟอยู่ตรงหัว ทำหัวร้อน หน้าหมอง
นั่งทำงานหรืออ่านหนังสืออยู่ดีๆ หัวก็ร้อนขึ้นมาซะงั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้โมโหหรือเครียดกับงานที่ทำ…แล้วมันเกิดจากอะไร?
หัวร้อนที่พูดถึง มาจากการติดตั้งตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานไม่เหมาะสม โดยตำแหน่งไฟจ่อที่ศีรษะเรามากเกินไป ซึ่งนอกจากหัวจะร้อนแล้ว ยังเกิดเงาบังทำให้เสียสายตา แถมยังดูหน้าหมองหมดสวย เพราะมีเงาตกที่หน้าตลอดอีกด้วย
การปรับแก้ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานที่ไม่เหมาะสม สามารถยึดหลักได้โดย...
- ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานต้องไม่ตรงตำแหน่งเตียง เพราะความร้อนจากโคมไฟที่ส่องตรงศีรษะ จะมีผลต่อการเจ็บป่วยได้ และเพื่อไม่ให้เกิดการมานั่งทำงานบนเตียง หรือนอนอ่านหนังสือ จนเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังจากการจัดสรีระผิดปกติบ่อยๆ
- ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานต้องไม่ตรงตำแหน่งที่นั่ง เพราะความร้อนจากโคมไฟที่ส่องตรงศีรษะ จะมีผลต่อการเจ็บป่วยและจะทำให้เกิดเงาเมื่อก้มอ่านหนังสือ และหน้าตาดูหมองไม่สวยอีกด้วย
4. ติดไฟผิดตำแหน่ง อาจทำให้ป่วย
เคยเป็นมั้ย? นั่งดูทีวีเพลินๆ อยู่ๆ ก็รู้สึกปวดหัวขึ้นมา หรือนอนหลับมาเต็มที่ พอตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนจะป่วยและเจ็บคอ
อาการที่ว่ามาทั้งหมด อาจเกิดจากการวางตำแหน่งเครื่องปรับอากาศที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตำแหน่งการเป่าลมเย็นนั้น มีผลต่ออุณหภูมิที่เกิดภายในห้อง ทั้งตำแหน่งการเป่าลมเย็น (Supply Air) ตลอดจนอากาศหมุนกลับ (Return Air) ที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ดังนั้นการวางตำแหน่งเครื่องปรับอากาศควรจะต้องยึดหลักตามนี้...
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศบริเวณหัวเตียงหรือตำแหน่งนั่ง เนื่องจากเป็นจุด Return ของอากาศเสียภายในห้องเข้าสู่เครื่องปรับอากาศ ทำให้เราสูดอากาศไม่ดีที่สุดของห้องเข้าไป อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์บริเวณปลายเตียงหรือตำแหน่งนั่ง เนื่องจากเป็นจุดที่ลมเย็นเป่าเข้าสู่เตียง ทำให้เราสูดอากาศเย็นเข้าไป อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้
- ควรติดตั้งให้ลมเย็นเป่าด้านข้างของเตียงนอน เนื่องจากจะทำให้ลมเย็นพัดผ่านตัวด้านข้าง ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ทั้งยังบำรุงรักษาและทำความสะอาดได้สะดวก
5. พรมสะสมฝุ่น สร้างภูมิแพ้
บ้านก็ทำความสะอาดดี แต่ทำไมอยู่ดีๆ ก็รู้สึกเป็นภูมิแพ้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากพรมปูพื้นในบ้านของเรานี่เอง จริงอยู่ที่การปูพรมทำให้บ้านดูมีมิติขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับ ว่าพรมก็เป็นแหล่งสะสมฝุ่น ไรฝุ่น เชื้อราและแบคทีเรียที่ดีด้วยเหมือนกัน ทั้งยังมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือกลิ่นอับ และมีสารเคมีระเหยจากวัสดุพรมและกาวที่ใช้ติดตั้งอีกด้วย วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องมีพรมในบ้าน แต่หากยังอยากได้พรมตกแต่งบ้านอยู่ ขอแนะนำวิธีการเลือกพรมให้เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองร้อนชื้น และการใช้งานแบบคนไทย โดยพรมที่จะใช้ตกแต่งต้อง...
- มีคุณสมบัติไม่สะสมความชื้นและต้านเชื้อรา เลือกวัสดุที่ระบายความชื้นได้เร็ว ไม่ดูดซับความชื้นเก็บไว้ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น นาโนเทคโนโลยี สามารถผลิตให้ตัววัสดุมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราและความชื้นได้ - ใช้พรมชนิดขนสั้น ช่วยลดการสะสมฝุ่นและความชื้น และยังดูแลรักษาง่ายอีกด้วย - วัสดุทำพรมไม่เป็นอาหารเชื้อรา หลีกเลี่ยงพรมที่ทำจากขนสัตว์ หรือเส้นใยจากพืช เพราะเป็นแหล่งอาหารที่ดีให้กับเชื้อรา สาเหตุหลักของภูมิแพ้เลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมีการคิดค้นวัสดุใหม่ เช่น ใยสังเคราะห์ ใยพีวีซี ที่ผลิตและควบคุมสารต่างๆ ให้ไม่สะสมฝุ่น และไม่สะสมความชื้น
อ่านตอนต่อไปได้ที่ https://risc.in.th/th/knowledge/10-issues-in-your-home-that-could-harm-your-physical-or-mental-well-being-2
ติดตาม Facebook Page ของเราได้ที่ RISC Well-Being: https://www.facebook.com/riscwellbeing/