มาสร้าง “สภาวะน่าสบาย” ผ่านการลดและปรับ “พื้นที่ดาดแข็ง” กันเถอะ (1)
Created By RISC | 4 years ago
Last modified date : 1 year ago
ตั้งชื่อเรื่องมาแบบนี้ หลายคนอาจไม่คุ้นนักกับคำว่า “พื้นที่ดาดแข็ง” แต่ถ้าบอกว่าคือ พื้นที่บริเวณรอบๆ บ้านที่มีลักษณะแข็ง ซึ่งเรามักออกแบบให้เป็นทั้งที่จอดรถ ทางเดินเท้า หรือลานที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกหน่อยว่าคือ พื้นลาดยาง พื้นอิฐ พื้นคอนกรีต พื้นหิน หรือพื้นไม้ คนทุกคนย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี
แล้วอะไรคือปัญหา ? หากบ้านสักหลังมีบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วย -- พื้นที่ดาดแข็ง
หากมี “พื้นที่ดาดแข็ง” อยู่ในบริเวณรอบๆ บ้านเป็นปริมาณมาก คุณสมบัติของวัสดุนั้นๆ จะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิโดยรอบเพิ่มสูงขึ้น แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องจ้าเข้ามาก็จะแยงตาโดยตรง และเสียงสะท้อนจากกิจกรรมต่างๆ ก็จะตรงสู่อาคารมากเป็นพิเศษ
นึกภาพ “บ้าน” ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ๆ สักต้นให้ร่มเงา ซอกมุมซ้ายขวาก็ไม่มีกระถางต้นไม้น้อย-ใหญ่ตั้งอยู่ และเจ้าของบ้านก็เลือกที่จะเปลี่ยนบริเวณรอบๆ โดยส่วนใหญ่เป็น “พื้นที่ดาดแข็ง” แบบต่างๆ เพื่อการใช้สอยที่สะดวกยิ่งขึ้น หากเป็นเวลากลางคืน แสงอาทิตย์ที่หมดไปและความเงียบสงบที่มาเยือน ก็คงไม่สร้างปัญหาอะไรมากนัก หากแต่ในเวลากลางวัน ผู้อยู่อาศัยย่อมรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวไปกับบรรยากาศโดยรอบของบ้าน
“พื้นที่ดาดแข็ง” ที่สร้างผลกระทบต่อ “สภาวะน่าสบายด้านความร้อน” เกิดขึ้นจากการที่วัสดุมี “ค่าสะท้อนความร้อน” ในระดับต่ำ - ปานกลาง “ค่าดูดกลืนความร้อน” และ “ค่าแผ่ความร้อน” ในระดับสูง จนพื้นที่นั้นกลายเป็นแหล่งสะสมความร้อน และเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณโดยรอบที่เป็น “พื้นสีเขียว” จะพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยตัวเลขการเปรียบเทียบ “อุณหภูมิพื้นผิว” ของพื้นคอนกรีต บล็อคคอนกรีตปูหญ้า บล็อคพลาสติกปูหญ้า และสนามหญ้า จะมากถึง 42, 36, 30 และ 27 องศาเซลเซียสตามลำดับ
ด้านผลกระทบต่อ “สภาวะน่าสบายทางการมองเห็น” เกิดขึ้นจากการที่วัสดุมีค่าการสะท้อนแสงสูง ส่งผลให้แสงจ้าและแยงตามากเมื่อเทียบกับ “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพื้นคอนกรีต กับบล็อคคอนกรีตปูหญ้า บล็อคพลาสติกปูหญ้า และสนามหญ้า จะสามารถลดการสะท้อนแสงได้ร้อยละ 31 , 62 และ 77 ตามลำดับ
ขณะที่ผลกระทบต่อ “สภาวะน่าสบายทางเสียง” จะเกิดขึ้นจากวัสดุมีค่าการดูดซับเสียงต่ำ เพราะพื้นที่ดาดแข็งโดยส่วนมากจะมีลักษณะทึบตัน ทางแก้จึงต้องใช้การออกแบบทางเดินเท้าในรูปแบบโค้งอิสระ เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนการตกกระทบและสะท้อนเสียงก่อนเข้าสู่อาคาร หรือแก้โดยแทรกพืชพรรณต่างๆ ไปยังทางเดินเท้า เพื่อช่วยในการดูดซับเสียง และลดความต่อเนื่องของเสียงสะท้อนก่อนเข้าสู่อาคาร
เมื่อพื้นที่ดาดแข็งเป็นสาเหตุที่สร้างความรู้สึกไม่สบาย การที่เจ้าของบ้านลุกขึ้นมาลดปริมาณ “พื้นที่ดาดแข็ง” ให้เหลือน้อยที่สุด หรือถ้ายังจำเป็นต้องใช้สอยพื้นที่จริงๆ ก็ควรหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม แล้วแทนที่ด้วย “พื้นที่สีเขียว” จะจากการปลูกต้นไม้ใหญ่ สนามหญ้า บล็อคปูหญ้า หรือการเติมต้นไม้เป็นกระถางไปเพียงเล็กน้อย ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้สึกสบายให้กับบริเวณโดยรอบและภายในบ้านได้
หลังจากทำความเข้าใจแล้วว่า “พื้นที่ดาดแข็ง” คืออะไร และมีผลต่อ “สภาวะน่าสบาย” ของผู้อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง ตอนต่อไปเราจะมาแนะนำแนวทางการลดและปรับพื้นที่รอบๆ ให้เหมาะสมกัน
แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
http://www.magnolia.co.th